10 วันอันตราย วันที่ 2 เสียชีวิต 38 ราย บาดเจ็บ 257 คน รวม 2 วัน ตาย 93 ราย ขาดเจ็บเจ็บ 575 คน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ธ.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 และแถลงข้อมูลช่วง 10 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ถึง 5 ม.ค. 2568 เป็นวันที่สอง ว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งยังคงมีจำนวนมาก ทั้งในส่วนของรถโดยสารประจำทางและรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากถึง 1,100,000 เที่ยว และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทาง โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด โดยวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 269 ครั้ง ซึ่งลดลง ร้อยละ 31.2 จากปีก่อน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 38 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.63 ผู้บาดเจ็บจำนวน 257 คน ลดลงร้อยละ 36.54 โดยจังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย จำนวน 13 ครั้ง รองลงมาคือ กระบี่ 11 ครั้งประจวบคีรีขันธ์ 10 ครั้ง
นายชาครีย์ กล่าวว่า ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือพังงา และหนองบัวลำภู จำนวน 3 ราย รองลงมาคือ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ นครราชสีมา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ศรีสะเกษ สระบุรีและเพชรบุรี จำนวน 2 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือ เชียงราย จำนวน 13 คน รองลงมา คือ กระบี่ 12 คนและพระนครศรีอยุธยา 11 คน สาเหตุของอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดมีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมาย ร้อยละ 38.29 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.4 จำนวน 234 คัน ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 18.01–21.00 น. ร้อยละ 21.56 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ประสบเหตุสูงสุดได้แก่ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย ร้อยละ 66.44 ประเภทถนนลักษณะจุดเกิดเหตุประเภท ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.98 ลักษณะถนนทางตรงร้อยละ 86.25 เพศชายประสบอุบัติเหตุสูงสุด ที่ร้อยละ 67.46 ส่วนช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เด็กและเยาวชน 0 ถึง 24 ปี ร้อยละ 29 ส่วนอายุ 40-79 ปี ร้อยละ 15.93
นายชาครีย์ กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนอุบัติเหตุสะสมระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.–28 ธ.ค. 2567 รวม 2 วัน มีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 592 ครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต 93 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บ 575 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 27 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ 10 ครั้ง ภูเก็ต 19 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 5 ราย รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยภูมิ นครราชสีมา และพังงา จำนวน 4 ราย ส่วน ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง สงขลา หนองบัวลำภู และอุดรธานี จำนวน 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 24 คน และรองลงมา ได้แก่ กระบี่ 21 คน ประจวบคีรีขันธ์ 20 คน
ด้านนายชาครีย์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และบริการสาธารณะ ทุกจุดที่มีการรับส่งประชาชน หากในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุให้ตรวจสอบย้อนกลับพฤติการณ์ว่าเกิดจากอะไร เช่น ขับรถต่อเนื่องนานกี่ชั่วโมง ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ เพื่อป้องกันที่ต้นเหตุ และขอให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย
นายชาครีย์ กล่าวอีกว่า อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ในเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการง่วงหลับใน ตลอดจนกำชับจุดตรวจ ด่านตรวจ ด่านชุมชน บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลัก สายรอง และถนนใน อบต.และหมู่บ้าน เน้นการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งจุดตัดทางรถไฟ ทางลักผ่าน ทางแยก ทางร่วม และเข้มงวดการจอดรถบนไหล่ทางที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ