ประธาน กกต. ไม่ฟันธงปม ทักษิณ" ปราศรัยหาเสียงช่วยนายก ออจ. เสี่ยงผิด ก.ม. หรือไม่
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีการปราศรัยของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หยิบยกนโยบายของรัฐบาลมาพูดบนเวทีการหาเสียงของท้องถิ่น ว่า ที่จริงพูดไปแล้วว่า อยากจะให้แยกว่าการพูดถึงนโยบายระดับชาติ กับการหาเสียงท้องถิ่น ส่วนตัวมองว่าบางครั้งโยงกันได้ บริบทการเมืองไปกันได้ แต่จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมี 2 ประการหลักคือ เสนอว่าจะให้ กับการหลอกลวง ซึ่งหากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ.นั้นๆ อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงได้ ดังนั้นเวลาพูด หากพูดไปถึงตรงนั้น ตรงนี้ แต่จะใช่ถึงขั้นเป็นการหาเสียงหลอกลวงว่าจะให้ หรือสัญญาว่าจะให้หรือไม่ก็ต้องดูบริบทแต่ละรายกรณี ต้องดูรายละเอียด ดังนั้น โดยหลักการหาเสียงเน้นว่า การที่ผู้สมัครจะเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปทำหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของ อบจ.มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็มีระบุไว้ชัดเจน ดังนั้นการหาเสียงก็ควรจะมุ่งเน้นในครอบนั้น หากพูดเกินเลยไปบ้าง ตนคิดว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร
เมื่อถามต่อว่า กรณีมีผู้ช่วยหาเสียงพูดเน้นไปที่นโยบายของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล ไม่ใช่อำนาจ หรือภารกิจของอบจ. เช่น การระบุถึงการลดค่าไฟฟ้า 3 บาทกว่า ตลอดจนเงินดิจิทัล นายอิทธิพร กล่าวว่า อย่างที่บอกว่า การพูดถึงนโยบาย กับการหาเสียงงานในกรอบของท้องถิ่น อาจจะไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ตอบตอนนี้ ให้ฟันธงไปเลยมันคงไม่ได้ เพราะว่าความเห็น อย่าลืมว่ากรรมการ กกต.มีทั้งหมด 7 คน ฉะนั้นจุดเชื่อมโยงตรงไหนที่มีการพูดถึงนโยบายของตัวเองโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการหาเสียง หรือเข้าข่ายหลอกลวง มันยังตอบทีเดียวไม่ได้ ต้องเอาข้อเท็จจริงที่พูดแต่ละอันที่หาเสียงมาดู ซึ่งก็เคยพูดไปแล้วว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ มันมีเส้นแบ่งอยู่ และต้องดูข้อเท็จจริงประกอบ และถ้าเป็นไปได้ การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรมุ่งเน้นที่นโยบายของผู้สมัครผู้นั้นประสงค์จะดำเนินการเมื่อได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งก็ให้ข้อคิดไปแล้ว ว่าโดยหลักเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ หากเกินเลยขอบเขตไปหากมีคนร้องก็ต้องเอาเรื่องทั้งหมดมาดู
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า คงไม่ต้องถึงขั้นทำหนังสือเตือนเพราะถือว่าผู้สมัครรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง และโดยหลักเมื่อรับสมัครและได้หมายเลขแล้วมีการประชุมเชิงสมานฉันท์แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้สมัครจะถือว่าตัวเองไม่ทราบไม่ได้ ผู้สมัครมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองก็มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ดูแลสมาชิกพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย หากแต่ละคนตระหนักในหน้าที่ของตนเองก็จะไม่เกิดปัญหา เรื่องที่ก้ำกึ่งจะเป็นประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของกกต. และถือเป็นความรับผิดชอบของผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงต่อสิ่งที่ตัวเองพูดไป