"จิรพงษ์"โชว์ผลงาน "สมศักดิ์" 250 วันจัดทำ พ.ร.บ. 6 ฉบับ เสร็จสิ้นแล้ว 4 ฉบับ
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.68 นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ ของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาของประชาชนคนไทย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคลากรทางการแพทย์ และการออกฏหมายให้ทันสมัยตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
นายจิรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตามดำริและการเร่งรัดของ นายสมศักดิ์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข แค่ 250 วัน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำ พ.ร.บ. ถึง 6 ฉบับ เสร็จสิ้นไปแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข ร่างพ.ร.บ. สุขภาพจิต ร่างพ.ร.บ. อสม. และ ร่างพ.ร.บ. กัญชา กันชง ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับ ได้ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร โดยจะเห็นได้ว่า นายสมศักดิ์ มีความชำนาญในเรื่องการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฏหมายครั้งใหญ่ของกระทรวงฯที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากนายสมศักดิ์ เคยเป็น ส.ส. หลายสมัย และรัฐมตรีหลายกระทรวง รู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน และปัญหาในการบริหารงานของแต่ละกระทรวง โดยเฉพาะความเข้าใจในบริบทของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายสมศักดิ์ เคยเป็นรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน
“และกำลังเร่งการยกร่าง พ.ร.บ. อีก 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งบังคับใช้มาแล้วกว่า 22 ปี ให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การวินิจฉัยการรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เสนอให้มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขทั้งแก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการเป็นต้น และอีกหนึ่งกฏหมายคือ ร่างพ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ NCDs เพื่อเป็นเครื่องมือทางระบาดวิทยาในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นการดึงเอากฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนช่วยเติมเต็มช่องว่างไม่ทับซ้อนกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่นการคุ้มครองผู้บริโภค ภาษีเหล้า ยาสูบ ฯลฯ รวมถึงการจัดให้มีการประเมินสุขภาพประชาชนระดับประเทศเพื่อเฝ้าระวังในการแก้ไขปัญหาระยะยาวและการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่ออย่างยั่งยืน“ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นายจิรพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ เครื่องมือทางการแพทย์ วิธีการและยาที่มาใช้รักษาของโรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นายสมศักดิ์ ยังตระหนักถึงระยะเวลาของผู้ป่วยในการรักษาต่อครั้ง จึงได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดพัฒนาระบบแอปพิเคชั่นไลน์หมอพร้อม เพื่อการลดเวลาของผู้ป่วยในโรงพยาบาลในสโลแกน พบหมอไม่รอผลเลือด ไม่รอหน้าห้อง ไม่รอใบนัด ไม่รอยา และการเปิดการรักษาออนไลน์ Telemedicine เช่นการให้บริการของตู้ห่วงใย ซึ่งจะมาทดแทนคลินิกปฐมภูมิของโรงพยาบาลในอนาคต