"อภิชาต" โต้คนวิจารณ์ "เฉลิมชัย" ยันทำงานแค่ 4 เดือนผลงานอื้อ ไม่พบการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.68 นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์พาดพิงการทำงานของรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า 1 ปี 3 เดือน แล้ว ป่าสงวนถูกบุกรุกทำลาย ปล่อยไฟไหม้เป็นแสนๆ ไร่ มีปัญญาป้องกันรักษาหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ป่าอนุรักษ์ถูกบุกรุกทำลายอย่างนี้ทุกวัน เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า เป็นการวิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดร.เฉลิมชัย เข้ามารับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.67 นับเวลาถึงบัดนี้เป็นเวลาเพียง 4 เดือนเศษ ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งไม่พบว่ามีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า โดยจากสถิติของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2567 ถึงปัจจุบัน (21 มกราคม 2568) มีทั้งหมด 388 คดี รวมพื้นที่บุกรุก เป็นจำนวน 3,845.52 ไร่ แยกเป็นป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นการควบคุมการทำไม้หวงห้าม การควบคุมการเก็บหาของป่า และการควบคุมการบุกรุกยึดถือครอบครองป่า จำนวน 61 คดี พื้นที่ 398.52 ไร่ ป่าชุมชน จำนวน 7 คดี พื้นที่ 54.82 ไร่ ป่าถาวร จำนวน 12 คดี พื้นที่ 65.24 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 297 คดี พื้นที่ 2,944.72 ไร่ และพื้นที่นอกเขตป่า 11 คดี พื้นที่ 382.23 ไร่ ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุก กระทำผิดรายเล็ก รายน้อย มีเพียง 9 คดีที่เป็นการบุกรุกรายใหญ่ ซึ่งทุกคดีเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายอภิชาต กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ดร.เฉลิมชัย ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งอำนวยความสะดวกในการพิจารณาเห็นชอบของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ตามขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้น ในเรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เดิมนั้นต้องยื่นคำขอกับสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ และให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ลงนามอนุมัติ ขณะนี้ได้ปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วขึ้นโดยมอบอำนาจให้ สำนักงานป่าไม้เขต 13 เขตทั่วประเทศ หรือตัวแทนป่าไม้เขตอีก 10 สาขา สามารถลงนามอนุมัติได้ ทำให้กระบวนการอนุมัติคำขอสั้นลงและมีความรวดเร็วภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุทำให้พื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ ถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อ ดร.เฉลิมชัย เข้ารับตำแหน่ง พบว่ามีการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ จากหน่วยงานของรัฐ รอการพิจารณาอนุมัติ มากถึง 137,000 คำขอ จึงได้เร่งรัดการพิจารณาอนุญาตจนสำเร็จไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
ประเภทที่ 1 เป็นการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการอนุญาตไปแล้ว จำนวน 8,162 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,336,787 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7,486 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,167,801 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) จำนวน 676 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 168,986 ไร่
ประเภทที่ 2 เป็นการอนุญาตตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มีการออกหนังสืออนุญาตแล้วจำนวน 523 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 2,807,424 ไร่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 144 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 842,871 ไร่
ประเภทที่ 3 เป็นคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยมีการยื่นคำขออนุญาตจำนวน 137,444 คำขอ มีการอนุญาตแล้ว จำนวน 2,582 คำขอ แบ่งเป็นคำขอที่ยื่นตามมติ ครม.ฯ จำนวน 2,430 คำขอ และเป็นคำขอที่ยื่นก่อนมติ ครม.ฯ จำนวน 152 คำขอ
ประเภทที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้เห็นชอบคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 กรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ในคราวประชุมฯ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จำนวน 5,407 คำขอ แบ่งเป็น คำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ จำนวน 64 คำขอ และคำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการ จำนวน 5,343 คำขอ
ที่ปรึกษา รมว. ทส. กล่าวว่า จากการดูรายละเอียดคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ พบว่าเป็นคำขอจากหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึงระดับ อบต. สถาบันการศึกษาของรัฐ กฟผ. และเมื่อพิจารณาที่วัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่พบว่า เป็นการขออนุญาตเพื่อเข้าทำประโยชน์ให้กับประชาชนในวงกว้าง ตั้งแต่ การก่อสร้างโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข รพ.สต. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ ทางสาธารณประโยชน์ กิจการโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงเรียน ขยายระบบประปาหมู่บ้าน สร้างอ่างเก็บน้ำ ขยายเขตไฟฟ้า และเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลเป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ดำเนินการภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อันจะเห็นได้ว่าเป็นการเร่งรัดคำขอทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว
นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาไฟป่า เมื่อ ดร.เฉลิมชัย เข้ารับตำแหน่งช่วงแรก ๆ เห็นว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งมักเกิดปัญหาไฟป่า ในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนเปิดศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อคอยเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่า และหมอกควันที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าที่ประสบปัญหาไฟป่าซ้ำซาก 140 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 129 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 11 แห่ง ใน 39 จังหวัด และยังครอบคลุมพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ทั้ง 14 กลุ่มป่า ในรอบ 4 เดือนเศษ พบว่า มีเพียง 1 ครั้งที่จัดว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน บริเวณ "เขาลอย" ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เกิดเหตุไฟไหม้ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2568 สร้างความเสียหายกว่า 1,500 ไร่ สาเหตุของไฟป่าครั้งนี้อาจเกิดจากการเผาป่าเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับลักลอบล่าสัตว์ ส่วนไฟไหม้ที่บริเวณป่าอื่นๆ เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ละแห่งมีพื้นที่เสียหายไม่เกิน 30 ไร่
"ทุกครั้งที่เกิดไฟป่า ดร.เฉลิมชัย ได้สั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าทันที พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณที่จำเป็นอย่างเพียงพอ จนสามารถดับไฟป่าได้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น และจำกัดความเสียหายในระดับต่ำสุด” นายอภิชาต กล่าวและว่า นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ยังทำงานเชิงรุก แก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการลงพื้นที่พร้อมสั่งการให้หน่วยปฏิบัติซักซ้อมแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือในทุกกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ทส. ยังได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ นโยบายและการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางผ่านสื่อมวลชน และยังใช้อีกหลายโอกาสตอบชี้แจงกระทู้ถามของ สส. ในสภาตลอดมา
นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า ในรอบ 4 เดือนเศษ ขอยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่องของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผลงานมากมาย อาทิ การช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคใต้หลายจังหวัด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ส่งรถทำอาหารเคลื่อนที่ พร้อมน้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเข้าติดตามสถานการณ์หลังน้ำลด เพื่อสนับสนุนการกำจัดขยะหลังน้ำท่วม และแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย อนุรักษ์พะยูน-ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้น เฝ้าติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ตั้งวอร์รูมเร่งผลักดันช้างกลับเข้าป่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ปรับปรุงสวัสดิการเสี่ยงภัย และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในสังกัดเพื่อรับมือเผชิญเหตุสัตว์ป่า การติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 สถานีทั่วประเทศ พร้อมป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย ในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม ลดความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เสริมเขี้ยวเล็บ กรมอุทยานฯ โดยขอรับการสนับสนุนอาวุธปืน เสริมประสิทธิภาพการป้องกัน และดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบตัดไม้ ล่า-ค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น เพื่อปราบปรามการกระทำผิด ต่อต้านขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การส่งคืน “ลีเมอร์ - เต่า” สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์กว่า 900 ตัว กลับสู่ถิ่นกำเนิด “มาดากัสการ์” สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP29 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว