กฟภ. แจงยิบขายไฟฟ้าให้เมียนมาถูกต้อง

2025-01-29 17:54:16

 กฟภ. แจงยิบขายไฟฟ้าให้เมียนมาถูกต้อง

Advertisement

กฟภ. ตั้งโต๊ะแจงขายไฟฟ้าให้บริษัทได้รับสัมปทานจากเมียนมา 5 จุด ผ่านการรับรองถูกต้องจาก กต. หน่วยงานความมั่นคงช่วยสกรีน หากต้องการงดจ่ายไฟ ยกเลิกสัญญามี 2 กรณีผิด คือ ผิดสัญญา กระทบความมั่นคงประเทศ

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.68 ที่สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้เมียนมา

รองผู้ว่า กฟภ. กล่าวว่า ตามมติ  ครม. ปี 2539 เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบ ยกเว้นมีประเด็นนโยบาย ที่สำคัญให้เสนอพิจารณา ซึปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุดดังนี้

1. บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

2. บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

3. สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

4. สะพานมิตรภาพไทย – เมียนามา แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

5. บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา


"การจ่ายไฟฟ้าในจุดซื้อขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา คู่สัญญาทุกจุดซื้อขายไฟฟ้าเป็นผู้ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือด้านเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ และ  กฟภ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอีกด้วย" รองผู้ว่า กฟภ. ระบุ

รองผู้ว่า กฟภ. ยังชี้แจงถึงกรณีการงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาว่า มี 2 กรณี ได้แก่ 1.คู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา และ2.กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง  กฟภ. จำเป็นต้องมีหนังสือเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกัน กับการเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นในเรื่องนโยบาย กฟภ.จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง กฟภ. ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ส่วนอีก 1 จุด ในปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ กฟภ. ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

รองผู้ว่า กฟภ. กล่าวด้วยว่า ขณะที่การตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศไทยนั้น กฟภ.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศของคู่สัญญาได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจประสานงานในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และแจ้ง กฟภ. เพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ กฟภ. ยังได้จัดทำหนังสือเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแลและควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปตามสิทธิสัมปทาน ณ จุดซื้อขายไฟฟ้า หากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยตรวจสอบและพิจารณาว่าการจ่ายไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และแจ้งให้ กฟภ.ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป