เว็บไซต์ WEF เผยบทความแสดงวิสัยทัศน์ "นฤมล"

2025-01-30 11:47:57

เว็บไซต์ WEF เผยบทความแสดงวิสัยทัศน์ "นฤมล"

Advertisement


เว็บไซต์ WEF เผยบทความแสดงวิสัยทัศน์ "นฤมล"  ย้ำไทยเดินหน้าพัฒนาแนวทางทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดโลกร้อนภาคการเกษตร  เพิ่มความรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยกว่า 70 ล้าน

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.68 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ Tania Strauss, Head of Food and Water, WEF รวมกันเขียนบทความ เรื่อง "ASEAN leadership to bend the curve on climate by strengthening food systems" ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ WEF เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าว เพื่อลดผลกระทบจาก climate change โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังนำเสนอทางออกที่น่าสนใจผ่านการปฏิวัติการทำนาแบบยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ที่รวมกันครองส่วนแบ่งการส่งออกข้าวทั่วโลกเกือบหนึ่งในสาม

การผลิตข้าวทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 1.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมการบินทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากการใช้ปุ๋ยที่ไม่มีประสิทธิภาพและแบคทีเรียในนาข้าวน้ำขัง แต่วิกฤตนี้กลับกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

หลังจากการปฏิวัติเขียวครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการเพิ่มผลผลิตผ่านการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันภูมิภาคนี้กำลังก้าวสู่การปฏิวัติเขียวครั้งที่สอง ที่ผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของเทคนิคการทำนาแบบยั่งยืน ได้แก่ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 70% การหยอดเมล็ดโดยตรง ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 40% และระบบการเพิ่มความเข้มข้นของข้าว (SRI) ที่เพิ่มผลผลิตได้ 20-100% ในขณะที่ลดการใช้น้ำลงครึ่งหนึ่ง

ประเทศไทยได้แสดงความเป็นผู้นำในการพัฒนาการทำนาทียั่งยืนผ่านโครงการ Thai Rice NAMA ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 500,000 เฮกตาร์ และในปี 2567 ได้ขยายโครงการเพิ่มเป็น 750,000 เฮกตาร์ พร้อมทั้งประกาศเข้าร่วม First Movers Coalition for Food ในการประชุม World Economic Forum 2568

การเปลี่ยนแปลงสู่การทำนาที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยกว่า 70 ล้านคนในภูมิภาค ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานโยบาย และการฝึกอบรมเกษตรกร

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.weforum.org/stories/2025/01/asean-strengthening-food-systems/