"สมศักดิ์" หารือ กมธ.กฎหมาย แก้ปัญหาสุขภาพจิตเด็ก สตรี ผู้ถูกกระทำรุนแรง

2025-02-12 10:37:59

"สมศักดิ์" หารือ กมธ.กฎหมาย แก้ปัญหาสุขภาพจิตเด็ก สตรี ผู้ถูกกระทำรุนแรง

Advertisement

"สมศักดิ์" หารือ กมธ.กฎหมาย แก้ปัญหาสุขภาพจิตเด็ก สตรี ผู้ถูกกระทำรุนแรง ชี้เป็นปัญหาส่งผลกระทบร้ายแรง เสี่ยงเป็นโรคจิตเวช 3 เท่า การทำร้ายตัวเอง 4 เท่า การติดสารเสพติด 2.9 เท่า 

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.68 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย น.ส.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับเด็ก สตรี ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และบุคคลในครอบครัว โดยตนได้เน้นย้ำว่า ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ และผลกระทบทางสุขภาพจิต ที่เกิดขึ้นกับเด็ก และสตรี เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง เนื่องจากทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีโอกาสเป็นโรคจิตเวช 3 เท่า การทำร้ายตัวเอง 4 เท่า การติดสารเสพติด 2.9 เท่า และมีภาวะความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ถึง 8.2 เท่า


นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2566 มีผู้เข้ารับบริการกว่า 12,500 ราย โดย 48% เป็นกรณีความรุนแรงทางร่างกาย 27% เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 18% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ โดยกระทรวงสาธารณสุข มุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ผ่านระบบบริการและมาตรการต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิต ผ่านศูนย์พึ่งได้ ซึ่งมีอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้บริการทั้งด้านการแพทย์ สังคม สงเคราะห์ และกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ การดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบผ่านระบบ MCATT มีระบบคัดกรองและบำบัดรักษา รวมถึงการเยียวยาทางจิตใจ เพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าและภาวะความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ การสร้างความตระหนักรู้และการป้องกัน โดยใช้แนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก โดยไม่ใช้ความรุนแรง การดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้านสุขภาพจิต และการพัฒนาความรู้แก่ประชาชน จิตอาสา และบุคลากร นอกจากนี้ ยังมีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้คำปรึกษาและประสานงานส่งต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไปยังหน่วยงานที่เหมาะสม

"ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ผมยังได้มีโอกาสเล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.68 ได้ร่วมเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลคือ ศาสตราจารย์ โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด ผู้ริเริ่มและพัฒนา คาร์ดิฟฟ์โมเดล นวัตกรรมด้านสาธารณสุข ที่มุ่งลดเหตุความรุนแรงในชุมชน ผ่านการบูรณาการข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรง จากโรงพยาบาล และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ช่วยลดการสูญเสียชีวิต สร้างความปลอดภัยให้กับสังคม จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนำไปใช้ในหลายประเทศ เพราะจากข้อมูล จะพบว่า ข้อมูลความรุนแรงของตำรวจ จะไม่ครบถ้วนเท่ากับของโรงพยาบาล ดังนั้น ถ้า กมธ.ตามไปดูต้นเหตุในชุมชน หมู่บ้าน ครอบครัวได้ ก็จะช่วยลดความรุนแรงได้จำนวนมาก" รมว.สาธารณสุข กล่าว