มติรัฐสภา 275 เสียง ไม่เลื่อนญัตติส่งศาล รธน. ตีความ เดินหน้าถกร่างแก้ไข รธน. มาตรา 256
เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 13 ก.พ.68 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) จำนวน 2ร่าง ได้แก่ 1.ร่างฯของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ 2.ร่างองนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหลังจากที่พักการประชุมไป 10 นาที เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ได้ศึกษาญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. ที่เสนอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนว่า ที่ประชุมต้องพิจารณาและลงมติว่าจะเลื่อนญัตติด่วนดังกล่าวซึ่งบรรจุในลำดับที่ 3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลื่อนและพิจารณาแล้วต้องลงมติว่าจะส่งหรือไม่ โดยหากมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญต้องหยุดการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติตอนหนึ่งว่า ญัตติดังกล่าว เสนอโดย ส.ส. และ ส.ว. รวม 60 คน โดยเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นั้นขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 อีกทั้งมองว่าประธานรัฐสภาไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระได้ จึงเกิดปัญหาว่ารัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 4/2564 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปกป้อง หากรัฐสภาจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หากประชามติเห็นชอบจึงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จต้องทำประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง
"จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก่อนการเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา หลังจากที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม และหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จ การที่ประธานรัฐสภาบรรจุก่อนการออกเสียงประชามติ ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณา ขณะที่ผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าทำได้ จึงถือเป็นความขัดแย้งต่ออำนาจและหน้าที่ จึงขอส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐสภาสามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก่อนมีการทำประชามติหรือไม่"นพ.เปรมศักดิ์ อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา นั้นพบว่ามีการแบ่งความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพราะการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา นอกจากนั้นแล้วสมาชิกรัฐสภายังมีหน้าที่โดยแท้ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมมองว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ยื่นเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญ ที่เชื่อว่าเป็นการขัดต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายยตุลการ ทั้งนี้หากสมาชิกรัฐสภาไม่กล้าทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ต้องเสนอตัวเป็นตัวแทนของประชาชน
ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของญัตติดังกล่าวเพราะประธานรัฐสภามีอำนาจบรรจุวาระประชุม ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบกับการทำหน้าที่ก็ดีไป ทั้งนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล รวมถึง ส.ว. ไม่มีอำนาจชี้ว่าชอบหรือไม่ เมื่อมีปัญหาต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอาจจะมีปัญหาหรือสุญญากาศ ดังนั้นตนเห็นชอบต่อการเลื่อนญัตติดังกล่าว
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนการเลื่อนญัตติที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยไม่ทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียของ และซ้ำรอยเหตุการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเหมือนปี2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การอภิปรายของ ส.ว. มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเช่นเดียวกับ ทั้งนี้หลังจากที่มีการอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติว่าจะเลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ซึ่งอยู่ใน ลำดับที่ 3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบที่จะเลื่อน 247 เสียง ไม่เห็นด้วย 275 เสียง จากนั้นจึงได้เข้าสู่การอภิปรายตามระเบียบวาระต่อไป
ทั้งนี้ประธานรัฐสภา แจ้งว่า ญัตติที่เสนอโดยนพ.เปรมศักดิ์ ยังอยู่ในวาระและจะพิจารณาต่อจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตาม นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ ส.ว. แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอออกจากที่ประชุม เพราะการพิจารณานั้นไม่ชอบ โดย มี ส.ว.บางส่วนได้ลุกวอล์กเอาท์ ไม่ขอร่วมสังฆกรรมด้วย