รมว.เกษตรฯยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยเกษตรมูลค่าสูง ประสานทูตเกษตรตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มเป็น 1.9-2 ล้านล้าน
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.68 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภายใต้การบริหาร เราได้ให้ความสำคัญและดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญ ตั้งแต่ในช่วงที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ คือ เกษตรมูลค่าสูงและเกษตรยั่งยืน ซึ่งในปีนี้เราเดินหน้าในการเพิ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญ หากมีพื้นที่เหมาะสมก็สามารถหันมาเพาะปลูกได้ เช่น กาแฟ ถั่วเหลือง โกโก้ โดยเราพร้อมสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเราพร้อมประสานกับหน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานทูตเกษตรที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกต่อไป
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า เมื่อดูรายได้เกษตรกรในปัจจุบันแล้วจะพบว่า เกษตรกรมีรายได้อยู่ 2 ช่องทาง คือ รายได้จากภาคการเกษตรอยู่ที่ 2.2 แสนบาทต่อปี และรายได้นอกภาคการเกษตรกว่า 2 แสนบาทต่อปี แต่รายได้จากภาคการเกษตร มีเรื่องของต้นทุน ดังนั้น รายได้สุทธิจะอยู่ที่ 89,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้เราเล็งเห็นว่าจำเป็นจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรเพื่อให้ “กินดีอยู่ดี”
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการดูแลพี่น้อง เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเราให้ความเป็นห่วงและความสำคัญมาก ในช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดเป็นปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ผลไม้ เป็นต้น สำหรับผลผลิตยางพารา ซึ่งเบื้องต้นได้มอบนโยบายให้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำโครงการสินเชื่อชะลอการขาย เพื่อจะดูดซับซัพพลายที่จะออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคายางพาราตกต่ำ ส่วนสินค้าข้าว กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ทำโครงการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อในการรวบรวมสินค้าข้าว ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นการดูแลซัพพลายไม่ให้ออกสู่ตลาดจนเกินไป
รมว.เกษตรฯ กล่าวสรุปว่า สำหรับสินค้าเกษตรไทยภาพรวมส่งออกในปี 2567 ที่ผ่านมามีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกผลสด มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่า 8 แสนล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 7.5% และในช่วง 3 ปีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังคงอันดับ 1 ของตลาดการส่งออก รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และเชื่อว่าในปี 2568 นี้โอกาสที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จะเพิ่มขึ้น 1.9-2 ล้านล้านบาท ก็คาดหวังว่าเราน่าจะทำได้