กมธ.ดีอีถกปมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สัปดาห์หน้าจ่อลงพื้นที่ดูตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต
เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 20 ก.พ.68 ที่รัฐสภา นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ. ว่า วันนี้เรามีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC รวมถึงแพลตฟอร์ม เข้ามาร่วมให้ข้อมูลการประชุมเกี่ยวกับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งตนรับทราบมาว่าเมื่อมีผู้เสียหายมาเขาก็ขอรับรายงานจากกมธ.ฯ ก่อนแล้วค่อยให้ความร่วมมือตามที่เราจะได้ข้อสรุป
ต่อข้อถามว่า มีแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วหรือไม่ นายสยาม กล่าวว่า ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการจะเป็นไปตามขั้นตอนคือ เมื่อผู้เสียหายได้รับผลกระทบและแจ้งความไปแล้ว เราจะทำอย่างไรให้คดีคืบหน้า ซึ่งเราต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย เพราะคดีที่เกิดขึ้นเกิดจากการถูกหลอกบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อกและเฟซบุ๊กที่มีการติดต่อกมธ.ฯ มาว่าจะให้ความร่วมมือ แต่เราก็บอกว่าเราต้องการกระชับพื้นที่และต้องการให้สิ่งเหล่านี้ลดลงหรือหมดไปให้ได้
เมื่อถามว่า จะมีการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกหรือไม่ นายสยาม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ก็พยายามอย่างเต็มที่ สภาผู้แทนราษฎรเราก็พยายามอย่างเต็มที่ในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนว่าภัยออนไลน์ยังมีอยู่และจะมีการหลอกลวง
เมื่อถามว่า มีการยึดเงินมาจากบัญชีม้าจะสามารถเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายได้หรือไม่ นายสยาม กล่าวว่า ขณะนี้การเฉลี่ยทรัพย์ในเชิงกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จดี 100 เปอร์เซ็นต์ และตอนนี้พรรค พท.มีการร่าง พ.ร.ก. เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของทางพรรค ซึ่งเมื่อเสร็จและเสนอเข้าสู่สภาฯ ก็คาดว่าจะเป็นประโยชน์แน่นอน
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยเรื่องการตัดอินเทอร์เน็ตฝั่งประเทศเมียนมาที่จะต้องทำให้จบภายในสัปดาห์นี้ ในกมธ.หรือไม่ นายสยาม กล่าวว่า กมธ. มีมติแล้วว่าสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เพราะมีผลกระทบต่อประชาชนด้วย โดยจะมีการเชิญ NT และโอเปอร์เรเตอร์เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบสัญญาณบริเวณขอบชายแดน ว่าหากกระทบกับคนไทยจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถตัดอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด