สบส. เตือนทำลักยิ้มเสริมโชคให้ปัง หากไม่ระวังอาจปากเบี้ยว ใบหน้าผิดรูป จากบริการที่ไร้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.68 ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส. ) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรม สบส. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับผลกระทบจากการศัลยกรรมทำลักยิ้ม ทำให้มีเลือดไหลออกจากแผลนานนับเดือนนั้น ตนและทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สบส. ได้ร่วมกับคณะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกดังกล่าว เขตประเวศ กทม. พร้อมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ณ สบส. เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการที่ประชาชนให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และความงามถือเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การรับบริการทางการแพทย์ทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะด้าน อย่างการศัลยกรรมการทำลักยิ้ม (Dimple Surgery / Dimpleplasty) ที่เป็นการศัลยกรรมสร้างลักยิ้มเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อเพิ่มเสน่ห์ หรือเพิ่มโชคลาภตามความเชื่อนั้นเป็นการผ่าตัดเล็ก ที่จะต้องรับบริการจากสถานพยาบาลและแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจำกัดความเสี่ยงที่มีให้ต่ำที่สุด ด้วยบริเวณใบหน้าประกอบไปด้วยเส้นประสาท และกล้ามเนื้อจำนวนมาก หากผู้ให้บริการขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายของประชาชนเป็นอย่างมาก อาทิ ปากเบี้ยว ใบหน้าผิดรูป เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล จนแผลเน่า หรือติดโรคติดต่อจากอุปกรณ์ เช่น เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ หรือแบคทีเรีย ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลายได้ ดังนั้น นอกจากประชาชนจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน สถานพยาบาลเองก็ต้องเคร่งครัดมาตรฐาน และมีความซื่อสัตย์ต่อผู้รับบริการในการนำผู้รับบริการ ยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงควบคุมมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับบริการ ซึ่งบริการทางการแพทย์ของไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศ จากความพร้อมของสถานพยาบาล บุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม และจิตบริการของบุคลากรทางการแพทย์ไทยซึ่งได้รับความชื่นชมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ทั้งนี้ สบส.จะดำเนินการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชน ที่มีเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมาทำการประกอบวิชาชีพ การที่แขวนป้ายชื่อแพทย์โดยที่แพทย์ไม่ได้อยู่จริง การใช้ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อตัดตอนกระบวนการการกระทำผิด คุ้มครองประชาชนมิให้ได้รับผลกระทบ หรือสูญเสียจากบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน กรม สบส.ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาในฐานะเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค หากพบเห็นการกระทำผิดของ คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่ กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป