มท.1 เคาะแผนพัฒนาภาคกลาง 17 จังหวัด วงเงิน 9,113 ล้าน กำชับจังหวัด กลุ่มจังหวัดขับเคลื่อนทุกโครงการต้อง "โปร่งใส - ถูกต้อง- ชี้แจงได้"
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68 ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประจำภาคกลาง จำนวน 17 จังหวัด ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นสำคัญ อาทิ 1. เห็นชอบโครงการและงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของ 17 จังหวัด และ 4 กลุ่มจังหวัดภาคกลาง โดยมีโครงการและงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนเบื้องต้น จำนวน 292 โครงการ วงเงินรวม 9,113 ล้านบาท 2. เห็นชอบผลการพิจารณาโครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคกลาง พ.ศ. 2566-2570 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 65 โครงการ วงเงิน 24,443 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า 3. เห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566-2570 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของภาคกลาง 4.เห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี ของ จ.ชัยนาท และจ.กาญจนบุรี (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดได้ปรับปรุงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ และ 5. เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงโครงการฯ ของจังหวัดอ่างทอง พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอผลการพิจารณาต่อ ก.น.บ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ การขอเปลี่ยนแปลงโครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ในส่วนของโครงการปรับปรุงถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต สายบ้านคลองคด - บ้านคลองโคน ต.คลองโคน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 0.700 กม. จำนวน 1 สายทาง วงเงิน 4.9 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงในการเสนอขอเปลี่ยนแปลงโครงการฯ ว่าเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และอยู่ในวิสัยที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.งบประมาณ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้มีกำชับให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดยกระดับความเข้มข้นในกระบวนการทำงาน รวมทั้งศึกษาระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส สามารถชี้แจงตอบคำถามได้ทุกขั้นตอน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด