วิสัญญีแพทย์ รพ.จุฬาฯ เผยนาทีแผ่นดินไหวอยู่ในห้องผ่าตัดพร้อมทีมดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด หวังครั้งหน้าได้รับการแจ้งเตือนให้ได้มีเวลาเตรียมตัวเผชิญเหตุการณ์
จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย รับรู้ถึงความสั่นไหว ทั้งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้ง กทม. โดยมีรายงานว่าได้เกิดเหตุอาคารระหว่างก่อสร้างถล่ม บริเวณเขตจตุจักร กทม. มีคนงานติดอยู่หลายราย
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ.พญ.วิรินทร์ดา ชิรวานิช วิสัญญีแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wirinda Chiravanich ระบุว่า บันทึก วันที่ 28 มี.ค.68 HBD น้องชายสุดที่รัก ที่ใกล้จะอยู่ใน Decade เดียวกันแล้ว เกิดเหตุการณ์สำคัญอีก 1 เหตุการณ์ในชีวิตที่รู้สึกงง ๆ แต่ก็รู้สึกอยากขอบคุณเจ้าหน้าที่ในรพ.ทุก รพ.ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วย และแก้ปัญหาต่าง ๆ เฉพาะหน้า ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ไม่ยากว่าจะต้องเลือกทางเดินไหน เพราะไม่มีทางเลือก สิ่งที่ทำได้คืออยู่กับทีม ช่วยดูแลผู้ป่วยที่พวกเราช่วยกันรับผิดชอบให้ดีที่สุด แล้วก็ได้แต่คิดว่าทุกคนตรงนี้คงได้ทำกรรมร่วมกันมา และอะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด แล้วเราทั้งทีมก็จะเผชิญกับมันไปด้วยกัน แต่คงเพราะผลบุญของผู้ป่วยและความที่ทีมงานยังช่วยกันเต็มที่เลยทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน ณ OR และ ICU SK5 แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม CVT ที่ไปนำ blood component มาให้ผู้ป่วย ในช่วงเวลาที่กำลังลุ้น aftershock กันอยู่
พอสถานการณ์คลี่คลายก็เริ่มได้รับทราบสถานการณ์ที่บุคลากรท่านอื่น ๆ ได้เผชิญมาก็ได้พบว่าในทุก ๆ สถานการณ์ก็มีสิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป เจ้าหน้าที่ทุกคนได้พยายามทำหน้าที่ ของตัวเอง และได้รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยได้ดีมาก ๆ ค่ะ
ตอนที่เริ่มให้ญาติผู้ป่วยกลับเข้าตึก เราได้พบกับญาติผู้ป่วยที่เรารับผิดชอบพอดีที่หน้าห้องผ่าตัด ลูกชายของผู้ป่วยมีน้ำเสียงที่ยังคงตื่นตระหนกถามว่า "คุณแม่ของผมที่ยังผ่าตัดอยู่ปลอดภัยดีใช่มั้ยครับ" ถามย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่แบบนั้น แต่ตามนิสัยของหมอ เราไม่สามารถพูดได้ว่าจะปลอดภัย 100% เลยได้แต่บอกออกไปว่า "ทุกอย่างเรียบร้อยดี ทำการผ่าตัดได้ลุล่วงดี อีก 30 นาที - 1 ชม.น่าจะได้ออกมาที่ ICU แล้ว แต่การผ่าตัดที่ใหญ่ก็คงต้องดูแลกันต่อไป แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ผู้ป่วยยังปลอดภัยดี และการผ่าตัดก็ราบรื่น" ลูกชายจึงสบายใจขึ้นและกลับไปนั่งรอบริเวณที่หน้าห้อง ICU ต่อได้
เราไม่รู้ว่าเราต้องเผชิญเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้งในชีวิตหรือไม่ แต่ได้แต่หวังว่าครั้งหน้า เราจะได้รับการแจ้งเตือนให้ได้มีเวลาเตรียมตัวว่าต้องทำอย่างไรก่อนจะต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่รุนแรงแบบวันนี้
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Wirinda Chiravanich