รู้จัก “เขื่อนแก่งกระจาน” ทะเลสาบกักเก็บน้ำ มากคุณประโยชน์

2018-08-06 18:00:10

รู้จัก “เขื่อนแก่งกระจาน”  ทะเลสาบกักเก็บน้ำ มากคุณประโยชน์

Advertisement

เอ่ยถึง จ.เพชรบุรี เชื่อว่า หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี ด้วยเป็นเมืองเก่าแก่ และเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงของไทยมาช้านาน มีชื่อเสียงเลื่องลือหลายด้าน โดยนอกจากจะเคยเป็นเมืองที่ประทับของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง ซึ่งรวมทั้งเขื่อนเพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้าที่สำคัญและมีความงดงาม นั่นคือ เขื่อนแก่งกระจาน

เขื่อนแก่งกระจานตั้งอยู่ที่บริเวณเขาเจ้าและเขาไม้รวกประชิดกัน ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่ทางด้านเหนือน้ำของเขื่อนเพชรขึ้นไปตามถนน 27 กม.

ลักษณะสำคัญของเขื่อนแก่งกระจาน นับเป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย ตัวเขื่อนเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2504 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนแก่งกระจานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2509 ซึ่งเป็นเขื่อนดินสูง 58 เมตร สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร ระดับสันเขื่อน +106 เมตร รทก. นอกจากนี้ยังมีเขื่อนดินปิดเขาต่ำทางขวางเขื่อนอีก 2 แห่ง คือแห่งแรกสูง 36 เมตร สันเขื่อนยาว 305 เมตร แห่งที่ 2 สูง 24 เมตร สันเขื่อนยาว 255 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 46.5 ตารางกิโลเมตร ความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานบริเวณที่ราบจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังให้ประโยชน์ด้านการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการพักผ่อนหย่อนใจ




การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนแก่งกระจาน จำนวน 1 เครื่อง ขนาดกำลังผลิต 19,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 แล้วเสร็จและผลิตไฟฟ้าได้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งมีสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนแก่งกระจาน ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงชะอำเป็นระยะทาง 40-41 กิโลเมตร และเนื่องจากใช้ผลิตไฟฟ้ามายาวนาน จึงได้มีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าใหม่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น

ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจานสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 19,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยประมาณปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถขยายพื้นที่ชลประทานของโครงการเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน 214,000ไร่ เพิ่มเป็น 336,000 ไร่ และเพื่อการเกษตร การเพาะปลูกในฤดูแล้งได้ 174,000 ไร่ รวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ตั้งแต่ปากอ่าวเพชรบุรีจนถึงหัวหินให้หมดไป และช่วยบรรเทาอุทกภัยในทุ่งเพชรบุรี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งส่งเสริมการประมง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรีด้วย



ขอบคุณข้อมูลจาก กฟผ.