108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรคซึมเศร้า โรคร้าย ภัยเงียบ ทำลายชีวิต

2018-08-10 09:00:24

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรคซึมเศร้า โรคร้าย ภัยเงียบ ทำลายชีวิต

Advertisement

โรคซึมเศร้าคือ คนที่มีอาการเศร้าอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าไม่มีความสุข ไม่อยากทำอะไร มีอาการทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีความคิดไปทางลบ เช่นการโทษตัวเอง อยากตาย คิดหาวิธี และอาจจะลงมือฆ่าตัวตาย ซึ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายถึง 20-30% เลยทีเดียว


ภาพ Photographee.eu / Shutterstock.com



สัญญาณบอกโรคซึมเศร้า
1. อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว
2. ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง
3. สมาธิเสีย คือ ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่าง ๆ


4. รู้สึกอ่อนเพลีย
5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด
6. รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง
7. นอนมากขึ้นหรือน้อยลง
8. ตำหนิตัวเอง
9. ฆ่าตัวตาย



ถ้าเริ่มมีอาการจำพวกนี้ไม่ควรปล่อยไว้นาน ควรพบแพทย์ในทันที


ภาพ igorstevanovic / Shutterstock.com

ในของส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ นั้นคือการที่สมองเรามีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเรามีความเครียดในระยะเวลาที่ยาวนาน สมองก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงเซลล์ประสาท และทำให้สารสื่อประสาทต่าง ๆแปรปรวนไป ทำให้อารมณ์ของเราออกไปในลักษณะซึมเศร้า ซึ่งมีผลต่อตัวเราและสมองส่งผลให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า



นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรม ที่ถ้าหากมีคนในครอบครัว เป็นโรคซึมเศร้า ตัวเราก็มีความเสี่ยง ส่วนคนที่ไม่มีความเสี่ยงด้านนี้อาจจะเกิดจากการเจอความเครียดที่หนักหนา รุนแรง เป็นยาวนาน ซึ่งแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน


ภาพ Stanislaw Mikulski / Shutterstock.com

วิธีการรักษามี 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ

1. การรักษาแบบจิตบำบัด เป็นการรักษาในลักษณะของการประคับประคอง คือการที่รับฟังผู้ป่วย เข้าใจถึงสาเหตุที่เครียด หรือ ทุกข์ของเขาว่าเกิดมาจากอะไร นอกจากนี้ยังการทำจิตบำบัดแบบลึก คือการให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับตัวเองว่าทำไมตัวเขาถึงคิดในเชิงลบ จนมีความเสี่ยง ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ป่วยบ่อย ๆ



2. การรักษาโดยยา ซึ่งตัวยาจะไปปรับสารเคมีหรือส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ให้มันกลับมาอยู่ในระดับปกติ หรือปรับให้อารมณ์สมดุล ซึ่งได้ผลดี และเห็นผลเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องเป็นยาที่ได้รับจากแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยหรือคนใกล้ตัวไปซื้อยาเอง เพราะยาด้านจิตเวช จะมีผลข้างเคียงเยอะ เช่น คลื่นไส้ปวดหัว เวียนหัว จนอาจทำให้คนไข้ที่ไม่รู้ไม่ยอมกินยาอีกเลย


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใกล้ตัวของเรามีจุดเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า วิธีสังเกตง่าย ๆ ให้ดูจากหน้าตาหรือพฤติกรรมของผู้ป่วย จากคนที่ยิ้มแย้ม จากที่สนุก จะเปลี่ยนเป็นเศร้า ดูเบื่ออาหาร ซูบผอมไป เรื่องของอารมณ์และความคิดที่มองด้านลบตลอดเวลา




รศ. ร.อ. นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล