Thailand Web Stat

ผ่าตัดปลูกถ่าย(เปลี่ยน)ไต ที่สุดของการให้

7 ปีที่แล้ว

ผ่าตัดปลูกถ่าย(เปลี่ยน)ไต ที่สุดของการให้

Advertisement

โรคไตวายนั้นป้องกันและรักษาได้ถ้ารู้เร็ว บางคนมีอาการเตือนมาก่อน เช่น ขาบวม ตาบวม ปัสสาวะมีฟอง สีเข้ม หรือ ปัสสาวะกลางคืน เลือดจาง คันตามตัว ผมร่วง ไม่ทราบสาเหตุ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เกิดไตวายระยะสุดท้าย สาเหตุที่สำคัญคือ การบริโภคอาหารเค็ม หวานจัด ไม่ออกกำลังกาย นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เก๊าท์ หรือบางคนใช้ยาแก้ปวด แก้อักเสบ สมุนไพรบางชนิด ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดไตวายในที่สุด

การรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทำได้โดยการใช้เครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้องทำหน้าที่ทดแทน อย่างไรก็ดีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตยังเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว สามารถทำงานได้ มีครอบครัวและมีบุตรได้ โดยไตที่รับอาจได้จากผู้บริจาคเสียชีวิตที่สมองตาย เช่นเลือดคั่งในสมองจากอุบัติเหตุ หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตจากสมองตายจะอยู่ในอาการโคม่า ไม่รับรู้และจะมีลมหายใจอยู่อีกไม่นาน(ไม่กี่วัน) ซึ่งระยะนี้ หัวใจ ตับ ไต ยังทำงานได้ และญาติเท่านั้นที่จะอนุญาติให้บริจาคอวัยวะที่ยังใช้ได้เพื่อต่อชีวิตคนอื่นที่รอปลูกถ่าย ถือเป็นการทำบุญใหญ่ครั้งสุดท้ายของผู้บริจาค

อย่างไรก็ดี ไตบริจาคจากผู้เสียชีวิตที่มีสมองตายนั้นยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รอรับไต ทำให้ระยะเวลารอรับไตนั้นยาวถึงหลายปี เหตุนี้ทำให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้กระทั่งสามี ภรรยา ยอมสละไต 1 ข้างของตนเพื่อคนที่เรารัก และปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ผลดีมาก โอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า 90-95% ซึ่งไตจากญาติพี่น้องนั้นอายุการใช้งานของไตนานกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้เสียชีวิต เนื่องจากชนิดของเนื้อเยื่อไตมีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้โอกาสการต่อต้านไตน้อยลง ถ้าถามถึงความเสี่ยงของผู้บริจาคไตที่เป็นญาตินั้น ก็มีบ้างเช่นเสี่ยงต่อการผ่าตัด ซึ่งพบไม่บ่อย และการผ่าตัดเอาไตออกในปัจจุบัน ทำได้โดยการส่องกล้อง ซึ่งบาดแผลเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และนอนพักในโรงพยาบาลไม่ถึงสัปดาห์ก็กลับบ้านได้ ส่วนในระยะยาว




ผู้บริจาคก็มีอายุยืนยาวเท่ากับประชากรทั่วไปและการเกิดโรคไตไม่เพิ่มขึ้นกว่าประชากรทั่วไป ผู้บริจาคไตมักมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปรกติ รวมทั้งสุขภาพจิตดีที่ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้อง คนที่รักให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ดีผู้บริจาคไต ต้องได้รับการติดตามและดูแลรักษาโดยแพทย์ตลอดชีวิต โดยเฉพาะติดตามการทำงานของไตข้างที่เหลืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเฝ้าระวังโรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้บริจาคควรดูแลสุขภาพตนเองเช่น หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล และงดสูบบุหรี่

ส่วนผู้ได้รับการปลูกถ่ายไตยังคงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานยากดภูมิตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการต่อต้านไตใหม่ (เรียกว่า ภาวะสลัดไต) และระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ



ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ครบ 32 ปี และได้ทำการปลูกถ่ายไตปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนมากกว่า 2,000 ราย และปลูกถ่ายตับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนมากกว่า 200 ราย นับเป็นสถาบันที่มีจำนวนผู้ป่วยปลูกถ่ายไตมากที่สุดของประเทศ รวมทั้งปัจจุบันมีจำนวนผู้มารอปลูกถ่ายมากที่สุดของประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกัน ทีมปลูกถ่ายไต รพ.รามาธิบดี ได้พัฒนาความสามารถในการปลูกถ่ายไต 2 ข้างพร้อมๆกันในผู้ป่วยรายเดียวเป็นแห่งเดียวในประเทศ ในกรณีไตบริจาคมีขนาดเล็กหรือไตจากผู้สูงอายุ รวมทั้งการปลูกถ่ายไตที่มีความสลับซับซ้อนจากการที่ผู้รับมีภูมิต้านทานสูง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ปลูกถ่ายไตและเพิ่มจำนวนการปลูกถ่ายไตในประเทศ 

ผศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคไต
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล