รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2018 (2561) ตกเป็นของ 2 นักรณรงค์ต่อต้านการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ในสงคราม คนแรก คือ น.ส.นาเดีย มูราด สาวผู้ผ่านความตายจากความโหด เถื่อน ดิบของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอสมาได้อย่างเหลือเชื่อ ส่วนอีกคนคือ เดนิส มุคเวเก นรีแพทย์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ คองโก ผู้ทุ่มเทเวลาในการสมานแผลหัวใจให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ประมาณ 30,000 คน ในช่วงหลายสิบปี
"มูราด" เป็นชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเคิร์ด ซึ่งเป็นชาวคริสต์ในอิรัก เคยถูกทรมานและข่มขืนจากนักรบไอเอส เรียกว่า ถูกจับไปเป็นทาสกามของนักรบไอเอสอยู่นาน และขณะนี้เธอออกมายืนแถวหน้าในการปลดปล่อยชาวยาซิดีให้ได้รับอิสรภาพ ส่วน "หมอมุคเวเก" พร้อมกับเพื่อนในโรงพยาบาล ก็ช่วยกันรักษาเยียวยาจิตใจเหยื่อข่มขืนจำนวนมาก
"หมอมุคเวเก"และ"มูราด"
ในปีนี้ มีบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ประมาณ 331 คน/แห่ง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เบริต รีส-แอนเดอร์เซ่น ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบล กล่าวว่า ผู้พิชิตโนเบลสันติภาพ ซึ่งมีการประกาศในกรุงออสโล เมืองหลวงนอร์เวย์เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผลงานโดดเด่น “พยายามที่จะหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นอาวุธสงคราม”
มูราด ในวัย 25 ปี ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ชาวยาซิดีจำนวนมากจะ “เฝ้ามองรางวัลนี้และคิดถึงสมาชิกในครอบครัวที่สูญหายไป ไม่ทราบชะตากรรม และคิดถึงผู้หญิงและเด็ก ๆ อีก 1,300 คน ที่ยังถูกจับเป็นตัวประกัน “สำหรับตัวฉันแล้ว ฉันคิดถึงแม่ ซึ่งถูกไอเอสฆ่าตาย, พี่น้องที่เติบโตมาพร้อมกับฉัน และสิ่งที่พวกเราต้องทำเพื่อรำลึกถึงพวกเขา” เธอกล่าวเพิ่มเติม “การเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยต้องยุติลง พวกเราต้องทำงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อพิสูจน์ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่เพียงแต่จะล้มเหลวเท่านั้น แต่จะต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อผู้รอดชีวิตด้วย”
ส่วน นายบาร์ฮัม ซาเลห์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิรัก เรียกรางวัลนี้ว่า “เกียรติยศสำหรับชาวอิรักทุกคน ที่ได้ต่อสู้กับการก่อการร้ายและพวกคลั่งศาสนา”
สำหรับมูราด เป็นหนึ่งในผู้หญิงและเด็กหญิงอิรักประมาณ 7,000 คน ที่ถูกจับตัวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิรักในเดือนสิงหาคม 2557 และถูกไอเอสควบคุมตัวไว้ในเมืองโมซุล มูราด ไม่เพียงแต่สูญเสียแม่ของเธอในเหตุการณ์สังหารโหดเท่านั้น เธอยังต้องทนทุกข์ทรมานเป็นทาสบำเรอกามสังเวยความใคร่ของกลุ่มนักรบไอเอสอยู่นาน 3 เดือน เธอถูกซื้อและขายต่อหลายทอด และถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบระหว่างถูกควบคุมตัว เธอรอดตายออกมาได้หลังจากถูกจับอยู่นาน 3 เดือน และอพยพไปยังเยอรมนี เริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งตรงจุดนี้ เธอก็เริ่มรณรงค์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวยาซิดีของเธอ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ และเรียกร้องให้ทั่วโลกใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับการข่มขืนที่ถูกใช้เป็นอาวุธสงคราม โดยเธอได้ขึ้นเวทีระดับโลกเพื่อเรียกร้องขอการสนับสนุนเพื่อชาวยาซีดี รวมทั้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ในปี 2558 และต่อรัฐบาลทั่วโลก
มูราด นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวยาซิดีและเป็นผู้รอดชีวิตจากการเป็นทาสบำเรอกามของไอเอสในอิรัก เคยได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน Vaclav Havel Human Rights Prize จากมนตรียุโรปในปี 2559 และเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ พิพากษาการก่ออาชญากรรมของไอเอสในการกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลในเมืองสตราบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส และในปีเดียวกันนี้ เธอก็ได้รับรางวัล the Sakharov Prize for Freedom of Thought จากรัฐสภายุโรปด้วย
มูราด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ทูตสันถวไมตรีคนแรกของยูเอ็นฝ่ายกิจการผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์" ในปลายปีเดียวกัน ซึ่งเป็นชาวอิรักคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ยูเอ็นบอกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ผู้รอดชีวิตจากการเข่นฆ่าที่ป่าเถื่อน ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
เธอใช้ประสบการณ์ที่แสนจะบอบช้ำทางจิตใจ, ถูกลักพาตัว, ตกเป็นทาสกาม และถูกรุมข่มขืนโดยนักรบไอเอสในเมืองโมซุล เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นของความโหดเถื่อนในอิรัก และซีเรีย เมื่อนักรบไอเอสก่อตัว จับอาวุธบุกยืดเมืองต่าง ๆ ใน 2 ประเทศ ได้ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล พร้อม ๆ กับการสถาปนาตัวเองขึ้นปกครองด้วยการใช้คำสอนอันเคร่งครัดทางศาสนาเป็นกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับคำสอนอย่างสิ้นเชิง นักรบไอเอส จับตัวประกันทุกเพศทุกวัย ใครขัดขืนฆ่าทิ้ง ส่วนผู้หญิงจับข่มขืน ให้เป็นทาสกามวนเวียนบำบัดความใคร่อย่างสาใจ มูราดก็ไม่รอดชะตากรรมนี้
เธอได้ลิ้มรสของความเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ด้วยจิตใจที่กล้าแกร่งเธอหนีรอดมาได้ ผันตัวเองไปเป็นนักเคลื่อนไหวทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดี ในอิรัก และเพื่อตีแผ่ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัยและสิทธิสตรีให้โลกได้รับรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น
บทเรียนอันโหดร้ายในชีวิตของมูราด เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 หลังจากนักรบไอเอส พากันยกกำลังเข้ามาหมู่บ้านของเธอ “โคโช” ในเคอร์ดิสถาน พื้นที่ปกครองตนเองของชาวเคิร์ด แม่ของเธอและญาติพี่น้องอีก 6 คนในจำนวน 9 คน ถูกสังหาร ส่วนผู้หญิงในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้แต่งงาน ถูกจับตัวไปเป็นทาสบำเรอกาม และทำหน้าที่บำบัดความใคร่ให้นักรบไอเอสแบบหมุนเวียนกันไป
ในการให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นก่อนหน้านี้ เธอย้อนรำลึกถึงคืนวันอันเจ็บปวดของวันที่ 3 สิงหาคม 2557
“ผู้หญิงและเด็กเกือบ 6,500 คน จากชนกลุ่มน้อยยาซีดี ถูกลักพาตัว และถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม หากไม่ยอมเปลี่ยนก็จะถูกฆ่าทิ้ง และมีชาวยาซิดีประมาณ 5,000 คนถูกฆ่าทิ้ง ในช่วงเวลา 8 เดือน ไอเอสได้แยกพวกเราออกจากแม่และพี่น้อง และบางคนก็ถูกฆ่า บางคนก็หายสาบสูญ"
มูราด ซึ่งเกิดในปี 2536 เรียนชั้นมัธยมปลาย และอายุ 21 ปี แล้วตอนที่นักรบไอเอสบุกโจมตีหมู่บ้าน “โคโช” ภาคเหนือของอิรัก ใกล้พรมแดนซีเรีย เธอตั้งความหวังว่าจะเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ หรือเป็นศิลปิน แต่ชีวิตของเธอกลับพังพินาศเพราะนักรบไอเอสที่ต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซิดีให้หมดไปจากอิรัก หลังถูกจับ เธอถูกบังคับให้ไปยังเมืองโมซุล ซึ่งกลุ่มไอเอสสถาปนาขึ้นให้เป็นเมืองหลวงของเขตปกครองด้วยกฎหมายศาสนา เธอถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลาม และถูกบังคับให้ค้ากามเซ่นความหื่นของไอเอส
เธอให้สัมภาษณ์บีบีซี ในปี 2559 ว่า เบื้องต้น เธอพยายามหลบหนี แต่ก็ถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยจับได้ แต่พระเจ้าก็มีเมตตาอยู่บ้าง ในที่สุดเธอก็สามารถหลุดรอดจากเงื้อมมือของไอเอส เข้าไปยังเมืองโมซุล ซึ่งมีครอบครัวชาวมุสลิมให้ความช่วยเหลือเธอ ด้วยการปลอมเอกสาร บัตรประชาชนให้เป็นชาวอิสลาม หนีรอดจากไอเอส
ภายใต้กฎหมายของไอเอส มูราดเล่าว่า "ผู้หญิงที่ถูกจับตัวไปถือเป็นผลพลอยได้ของสงคราม หากเธอถูกจับได้ว่าพยายามหลบหนี เธอจะถูกนำตัวเข้าคุก และถูกชายทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณนั้น จะพากันรุมข่มขืน"
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมูราด ซึ่งบอกว่า นักรบไอเอส เรียกปฏิบัติการเช่นนี้ว่า “sexual jihad” (ประมาณว่าข่มขืนแบบบ้าระห่ำ) หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว เธอก็ไม่คิดพยายามหลบหนีอีก แต่ในเวลาต่อมา ชายคนที่เธอพักอาศัยอยู่ด้วยในเมืองโมซุล ซึ่งเขาอาศัยอยู่คนเดียว บอกเธอว่า เขากำลังจะนำตัวเธอไป “ขาย” ต่อให้อีกคนหนึ่ง
มูราดบอกว่า เธอแอบหลบออกจากบ้านนั้น และไปหยุดอีกบ้านหลังหนึ่งเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งครอบครัวชาวมุสลิมที่บ้านหลังนี้ กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอเอส จึงช่วยเหลือให้หลบหนีได้ จากนั้นเธอก็ข้ามเข้าไปในเขตเคอร์ดิสถานของอิรัก และพบผู้ลี้ภัยในค่ายที่เป็นชาวยาซิดีคนอื่น ๆ ก่อนจะนำร่างกายและจิตใจอันบอบช้ำอพยพไปยังยุโรป และขณะนี้ เธออาศัยอยู่ในเยอรมนี
เธอยังคงเดินหน้ารณรงค์เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงอีกหลายพันคนที่เชื่อว่ายังอยู่ในการควบคุมของนักรบไอเอส
ด้วยหัวใจที่กล้าแกร่ง และมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเหยื่อผู้หญิง หัวอกเดียวกันให้รอดพ้นจากการกระทำทารุณกรรมของนักรบไอเอส นับว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง สำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้
6/10/61
สันติ สร้างนอก