นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้ สามารถสร้างก้อนอิฐจากปัสสาวะของมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก เป็นหนึ่งในนวัตกรรมล่าสุดในการวิจัยเพื่อสร้างวัสดุก่อสร้างทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โครงการสร้างก้อนอิฐจากปัสสาวะของมนุษย์ เป็นของนักศึกษา 2 คน และอาจารย์อีกหนึ่งคนจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ซึ่งเริ่มต้นการศึกษาเมื่อปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยเริ่มจากใช้ปัสสาวะสังเคราะห์ก่อนที่จะหันมาลองใช้ปัสสาวะของคนจริง
ตัวอย่างก้อนอิฐจากปัสสาวะมนุษย์ที่ทำสำเร็จในห้องทดลอง ผลิตโดยการใช้เทคนิคบางอย่างที่คล้ายกับก่อตัวตามธรรมชาติของเปลือกหอย กระบวนการที่ใช้เรียกว่าการตกตะกอนคาร์บอเนตด้วยจุลินทรีย์ ที่จะผสมปัสสาวะ ทรายและแบคทีเรียเข้าด้วยกันเพื่อทำอิฐชีวภาพนี้ โดยการใส่แบคทีเรียลงไปในเม็ดทรายที่เกาะตัวอย่างหลวมๆ จะทำให้เกิดเอนไซม์ที่เรียกว่ายูรีเอส ที่จะทำปฏิกิริยากับปัสสาวะและทำให้เกิดส่วนผสมที่คล้ายกับซีเมนต์ที่เชื่อมด้วยทราย
ในขณะที่อิฐทั่วไปต้องใช้การเผาที่อุณหภูมิ 1,400 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่อิฐชีวภาพของนักวิจัยกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เตาอบ โดยสามารถทำให้ขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่างๆและทำให้แห้งด้วยอุณหภูมิห้อง ที่นักวิจัยบอกว่าใช้เวลาในการก่อตัวประมาณ 6-8 วัน พร้อมยืนยันนับตั้งแต่ทำการทดลองมาอิฐชีวภาพมีความแข็งแรงเหมือนกับอิฐทั่วไปที่หาซื้อได้ตามตลาด และอิฐ 1 ก้อน จะต้องใช้ปัสสาวะมากที่สุดถึง 30 ลิตร เนื่องจากร้อยละ 90 ของปัสสาวะคนนั้นประกอบไปด้วยน้ำ
ส่วนปัญหาที่คนกังวลว่าหากนำอิฐชีวภาพนี้ไปสร้างบ้านแล้ว จะทำให้มีกลิ่นปัสสาวะรบกวนออกมาจากกำแพงบ้านหรือไม่นั้น นักวิจัยกล่าวว่า กลิ่นแอมโมเนียที่รุนแรงจากปัสสาวะจะหายไปในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังอิฐแห้งตัวลง
ทั้งนี้ เคยมีโครงการการผลิตอิฐชีวภาพมาแล้วในสหรัฐฯ แต่เป็นเพียงการใช้ปัสสาวะสังเคราะห์ ดังนั้นโครงการของทีมนักวิจัยแอฟริกาใต้นี้จึงเป็นครั้งแรกที่ใช้ปัสสาวะคนจริงๆ มาผลิต