ผวจ.ตรัง ร่วมบินสำรวจประชากรพะยูน พบจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น บางส่วนอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ก็พบว่ายังมีชาวประมงไปจับสัตว์น้ำบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับพะยูน เตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง และจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจังต่อไป
วันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้ส่งนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และนักบินจิตอาสาชาวอังกฤษ นำเครื่องบินเล็กขนาด 2 ที่นั่ง มาทำการบินสำรวจพะยูนในทะเลตรัง ซึ่งเป็นการบินสำรวจต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 แล้ว เพื่อนับจำนวนประชากรพะยูน ในบริเวณแนวเขตพื้นที่หญ้าทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ บริเวณเกาะมุก เกาะตะลิบง ทั้งนี้ เพื่อนับจำนวนประชากรพะยูนที่เหลือแต่ละปี ด้วยการนำเอาจำนวนพะยูนที่บินพบแต่ละเที่ยวบินไปคำนวณหาค่าเฉลี่ย ก็จะสามารถประมาณการจำนวนประชากรพะยูนที่เหลือได้ และเพื่อนำข้อมูลมาพยากรณ์ว่าจำนวนของพะยูนที่พบหรือหายไป จะสามารถบอกสถานการณ์ของพะยูนในอนาคตได้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก ที่ขณะนี้เหลือฝูงใหญ่ที่สุดคือ ที่ จ.ตรัง โดยเมื่อปี 2561 จากการบินสำรวจพบประชากรพะยูนใน จ.ตรังมีประมาณ 171 ตัว แต่ในปีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากในปี 2561 มีพะยูนตายเพียง 6 ตัว
ทั้งนี้ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผวจ.ตรัง ได้ร่วมบินสำรวจกับ Mr.Eduardo Loigorri (คุณเอ็ด) นักบินอาสาสมัครชาวอังกฤษ หลังจากนั้นให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า พะยูนถือว่าเป็นสัตว์ทะเลหายาก หรือเป็นอันซีนของ จ.ตรัง ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเล ซึ่ง จ.ตรังเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ จากการได้ขึ้นบินด้วยพบเห็นฝูงพะยูนเป็นจำนวนมาก บางฝูงมากกว่า 20 ตัว และพบพะยูนแม่ลูกด้วย ตัวใหญ่มาก โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกของเกาะลิบง และอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนด้วย แสดงว่ามีอุดมสมบูรณ์มาก ดังนั้นเราต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทะนุถนอม ทั้งพี่น้องประมงพื้นบ้านและอาชีพที่อยู่กับท้องทะเล โดยเฉพาะเรือประมงที่มีใบพัด มีเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังไม่ให้พะยูนได้รับผลกระทบและที่สำคัญอย่าไปรบกวน เราต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้พะยูนคงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป