สพฐ.ติดตามการรับนักเรียน ม.1 โรงเรียนแข่งขันสูง

2019-03-30 22:35:46

สพฐ.ติดตามการรับนักเรียน ม.1 โรงเรียนแข่งขันสูง

Advertisement

สพฐ.ติดตามการรับนักเรียน ม.1 โรงเรียนแข่งขันสูง สอบคัดเลือกพร้อมกันทั่วประเทศ ก่อนประกาศผลและรายงานตัว  3 เม.ย. และมอบตัว  8 เม.ย. 

เมื่อวันที่ 30  มี.ค. ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามการรับนักเรียน ได้ลงพื้นที่ติดตามการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2562 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งได้เปิดรับสมัครนักเรียนทั่วไปชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างวันที่ 22-27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยวันนี้เป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งผู้บริหารของ สพฐ. ที่ได้ลงพื้นที่ติดตาม ได้แก่ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่โรงเรียนศรีอยุธยาฯ และนายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ผอ.สอ. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน ลงพื้นที่โรงเรียนทวีธาภิเษก 

โดยภาพรวมของการสอบคัดเลือกนั้น นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ภายหลังเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า สพฐ. รับสมัครนักเรียนทั่วไปชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างวันที่ 22-27 มี.ค. โดยวันนี้เป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 พร้อมกันทั่วประเทศ และเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั่วประเทศ 281 แห่ง กำหนดให้สอบคัดเลือก และรับนักเรียนเพียงรอบเดียว ซึ่งภาพรวมการจัดสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อย


สำหรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ของสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ทางคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือบอร์ด กพฐ. ได้เปลี่ยนเกณฑ์สำคัญ 2 เรื่อง คือ ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 และ 4 ให้สิทธิคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน ขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องจาก 40 คน เพิ่มได้อีก 5 คน รวมเป็น 45 คน ส่วนการรับนักเรียนในระดับอื่นๆ ให้คงจำนวนรับไว้เหมือนเดิม คือ ก่อนประถมศึกษา 30 คนต่อห้อง ประถมศึกษา 40 คนต่อห้อง ขณะที่สัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนกับการสอบคัดเลือกให้คงไว้ที่ 60 : 40 เช่นเดิม


ในส่วนของการสอบ ให้โรงเรียนจัดทำข้อสอบให้อยู่ในกรอบเนื้อหาของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเนื้อหาไม่เกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ใน 5 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ ประกาศผลการคัดเลือกเรียงตามลำดับคะแนนรวมใน 5 วิชาหลัก รวมกับคะแนน O-NET โดยให้ทุกสถานศึกษาประกาศผลการสอบเรียงตามลำดับคะแนนสอบของผู้เข้าสอบแข่งขันได้ทุกคนโดยเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานศึกษามีการรับนักเรียนเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใดๆ ให้ดำเนินการเรียกรับนักเรียนตามประกาศผลการสอบที่ได้เรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้ของแต่ละประเภท ส่วนนักเรียนที่พลาดการคัดเลือก สามารถยื่นความจำนงขอให้จัดสรรที่เรียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการได้ ตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.ย.


สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพม.เขต 1 กทม. ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รับ 270 คน สมัคร 1,140 คน  โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล รับ 405 คน สมัคร 938 คน  โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน รับ 450 คน สมัคร 888 คน  โรงเรียนศึกษานารี รับ 450 คน สมัคร 821 คน  โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม รับ 480 คน สมัคร 818 คน  โรงเรียนโยธินบูรณะ รับ 320 คน สมัคร 782 คน โรงเรียนสตรีวิทยา รับ 405 คน สมัคร 733 คน  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี รับ 405 คน สมัคร 732 คน โรงเรียนเทพศิรินทร์ รับ 315 คน สมัคร 727 คน โรงเรียนวัดราชโอรส รับ 440 คน สมัคร 723 คน


สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพม.เขต 2 กทม. ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รับ 585 คน สมัคร 1,134 คน  โรงเรียนหอวัง รับ 540 คน สมัคร 1,025 คน  โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย รับ 540 คน สมัคร 970 คน  โรงเรียนสตรีวิทยา 2 รับ 621 คน สมัคร 949 คน  โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับ 540 คน สมัคร 923 คน  โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี 2) รับ 440 คน สมัคร 896 คน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสุวรรณภูมิ รับ 280 คน สมัคร 849 คน โรงเรียนเศรษฐบุตรบําเพ็ญ รับ 630 คน สมัคร 845 คน โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า รับ 450 คน สมัคร 759 คน  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า รับ 360 คน สมัคร 744 คน




ทั้งนี้ หลังจากสอบคัดเลือกในวันที่ 30 มี.ค.แล้ว จะมีการประกาศผลและรายงานตัว ในวันที่ 3 เม.ย. และมอบตัว ในวันที่ 8 เม.ย. ต่อไป