นายกฯ เผยทิศทางความร่วมมือภายใต้กรอบ BRI ใน 5 มิติ ยืนยันที่จะดูแลนักลงทุน นักท่องเที่ยวจีนอย่างดีที่สุด พร้อมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าไทย - จีนที่ตั้งไว้ใหม่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564
เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 27 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงปักกิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แก่คณะสื่อมวลชนไทย เกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI/ One Belt, One Road) ซึ่งเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2556 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา โดยยึดแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านการค้า การลงทุน และโครงการความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาค สำหรับการประชุม BRF ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ Belt and Road Cooperation: Shaping a Brighter Shared Future ซึ่งมีผู้นำจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม
ระหว่างการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ใน 2 โอกาส คือ การประชุมระดับสูง (High-Level Meeting) และ การประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) ซึ่งประเด็นที่นายกรัฐมนตรีประสงค์จะผลักดัน มีดังนี้
1. เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่าน MPAC 2025 และ ACMECS Master Plan ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ BRI บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความโปร่งใส การเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วนและการเคารพกฏหมายระหว่างประเทศ
2. ขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน
3. ผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area - GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นทีสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan - Pearl River Delta - PPRD) กับ EEC
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าผลสำเร็จที่สำคัญของการประชุม คือ การรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมฯ ได้กำหนดทิศทางความร่วมมือภายใต้กรอบ BRI ใน 5 มิติ ได้แก่ 1. ความเชื่อมโยงทางนโยบาย อาทิ กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและโลก การอำนวยความสะดวกในด้านการค้า การลงทุน ศุลกากร ภาษี ดิจิทัลและความร่วมมือทางทะเล 2. ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติ โดยมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาด 4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือให้ปฏิบัติได้จริงและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การบริหารจัดการน้ำ 5. การพัฒนาการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรมและเยาวชน
ทั้งนี้ระหว่างการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบปะทักทายกับผู้นำระดับสูงของประเทศต่างๆ รวมทั้งหารือทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีจีน ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะรักษาพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกระดับ เพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือจีน – ญี่ปุ่นในเขต EEC ผลักดันความสัมพันธ์ไทย - จีน และความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้านให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงที่จะสอดคล้องกับ Thailand 4.0 และ BRI ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด มีความร่วมมือหลายด้าน ทั้งรถไฟ EEC และการลงทุนต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันที่จะดูแลนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจีนอย่างดีที่สุด ในด้านการค้ามุ่งหวังที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าไทย - จีนที่ตั้งไว้ใหม่ ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 ย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน พร้อมเดินหน้าการดำเนินการตามแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” สำหรับความร่วมมือรถไฟไทย – จีน และ ความร่วมมือ 3 ฝ่ายไทย - จีน – ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จในการลงนามบันทึกความร่วมมือเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ ในช่วงการประชุม BRF ครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สามารถต่อยอดความเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเชื่อมโยงกันและเป็นประโยชน์กับประชาชน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลยึดมั่นหลักการของ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน