เรื่องเล่า “พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์” บ้านเกิด “ป๋าเปรม”

2019-05-26 16:20:09

เรื่องเล่า “พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์” บ้านเกิด “ป๋าเปรม”

Advertisement

อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้จัก นั่นคือ พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ ซึ่งในอดีตเคยเป็น "บ้านเกิด" ของ พลเอกเปรม โดยปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย


พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ หรือบ้านของตระกูลติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถ.จะนะ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา (ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา) ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.สงขลา จัดสร้างขึ้นโดยกรมราชทัณฑ์ในสมัยของนายสนิท รุจิณรงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง บ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา

จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา “พะทำมะรง” เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดี ปรากฎหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมา ตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่ง “พะทำมะรง”จึงได้ถูกยกเลิกไป



ในความทรงจำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา 2 หลังคู่ มีชานเปิด โล่งเชื่อมถึงกัน ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวติณสูลานนท์ในอดีต และประวัติสกุลวงศ์ ปัจจุบันเทศบาล นครสงขลาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและพัฒนาให้เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ที่มาของตระกูล "ติณสูลานนท์" นี้ได้รับ พระราชทานมาจาก "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2462 เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้มี “นามสกุล” เพื่อเป็นหลักในการสืบเชื้อสาย เป็นธงชัยแห่งครอบครัว และให้ผู้สืบสกุลได้ตั้งมั่นในคุณงามความดี โดยการรักษาชื่อเสียง เกียรติยศของบรรพบุรุษผู้เป็นต้นตระกูลให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ขอบคุณภาพจาก https://www.museumthailand.com