การกลั่นแกล้งรังแก Bullying และ Cyberbullying

2019-07-12 11:30:57

การกลั่นแกล้งรังแก Bullying และ Cyberbullying

Advertisement

การกลั่นแกล้งรังแก Bullying และ Cyberbullying

การกลั่นแกล้งรังแก คือการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มีพลัง อำนาจมากกว่า ตั้งใจทำร้ายบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งทางกาย วาจา หรือจิตใจ ซึ่งอาจกระทำในชีวิตจริงหรือมีการกระทำผ่านการใช้อุปกรณ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ (cyberbullying) โดยส่วนใหญ่มักมีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นทั้งในชีวิตจริงและไซเบอร์ควบคู่กัน

รูปแบบการกระทำอาจแบ่งได้ดังนี้

1. ทางร่างกาย เช่น ต่อย ตี ตบ เตะ ผลัก ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บทางร่างกาย

2. ทางทรัพย์สิน เช่น ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ลักทรัพย์ ล่อลวงให้เสียทรัพย์

3. ทางวาจา จิตใจ เช่น ด่าว่า คุกคาม บังคับให้กระทำสิ่งใด ๆ โดยผู้อื่นไม่เต็มใจ

4. ทางสังคม เช่น ปล่อยข่าวลือให้เสียหาย กีดกันผู้อื่นไม่ให้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์

5. ทางเพศ เช่น บังคับขืนใจให้มีกิจกรรมทางเพศ ดูหรือฟังเกี่ยวกับเรื่องทางเพศโดยไม่เต็มใจ

ผลของการกลั่นแกล้ง ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจเกิดความเครียด ปวดหัว ปวดท้อง รู้สึกตนเองไร้ค่า ซึมเศร้า วิตกกังวล จนกระทั่งฆ่าตัวตาย หรือบางคนอาจเป็นผู้ที่ไปรังแกผู้อื่นต่อไปได้ ผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นก็มักพบปัญหาต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกตนเองไร้ค่า ซึมเศร้า สมาธิสั้น เคยถูกทารุณกรรมจากครอบครัว หรือเคยตกเป็นเหยื่อการรังแกมาก่อน

การกลั่นแกล้งรังแก Bullying และ cyberbullying พบได้บ่อยแค่ไหน ข้อมูลวัยรุ่นในกรุงเทพฯ รายงานว่าตนเคยเป็นเหยื่อ (victim) ร้อยละ 25 ผู้กลั่นแกล้ง (bully) ร้อยละ 7 และเคยเป็นทั้งเหยื่อและผู้กลั่นแกล้ง (bully-victim) ร้อยละ 24 ในการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์

วัยรุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 91.9) เคยพบเห็นการรังแกบนโลกไซเบอร์ โดยมีเพียงร้อยละ 34.6 ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ในขณะที่ร้อยละ 26.3 เพิกเฉยต่อการกลั่นแกล้ง และมีถึงร้อยละ 28 ที่เข้าไปซ้ำเติมผู้อื่น

ควรทำอย่างไรเมื่อพบเห็นการกลั่นแกล้งรังแก 

1. ปรับทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเช่น เป็นการเล่นกัน คนถูกรังแกอ่อนแอ ไม่สู้ เขาสมควรโดนแล้ว ไม่ใช่ธุระของเรา เราคงช่วยอะไรไม่ได้

2. เขาไประงับการกลั่นแกล้ง เช่น เตือนผู้กลั่นแกล้ง-ผู้ที่เข้าไปซ้ำเติม โดยไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับผู้ที่กลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น

3. ช่วยเก็บหลักฐานการรังแก และแจ้งแก่ผู้ที่มีอำนาจเช่น ครู ตำรวจ ผู้ปกครองเพื่อช่วยเหลือดูแลเหยื่อ และหาสาเหตุของผู้กระทำ

4. แจ้งแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อระงับการกลั่นแกล้งรังแก เพื่อลดผลกระทบที่อาจกระจายเป็นวงกว้าง

5. ไม่เข้าไปซ้ำเติม หรือส่งต่อข้อความ รูปภาพ หรือโพสต์ ที่ไม่ได้ทำไปเพื่อช่วยเหลือแก่เหยื่อ

6. แสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าไปแสดงความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกรังแก

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล