สุดแปลก! น้ำโขงแห้งฤดูฝน เกิดปรากฏการณ์หาดคล้ายเกล็ดพญานาค ตัวแทนชมรมอนุรักษ์ เผยน่าห่วงผลกระทบสร้างเขื่อนจีน เสี่ยงแล้งวิกฤติ
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำโขงแห้งผิดธรรมชาติ ยังส่งผลกระทบวงกว้าง หลังระดับน้ำโขงลดต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน ล่าสุดระดับน้ำโขง เหลือเพียงแค่ 1.90 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งประมาณ 10 เมตร คือที่ 13 เมตร และยังมีแนวโน้มที่จะลดระดับต่อเนื่อง เพราะฝนทิ้งช่วงบวกกับผลกระทบ การกักน้ำของเขื่อนกั้นน้ำโขงประเทศจีน โดยล่าสุดหลังระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง พบว่า บริเวณน้ำโขงท้ายเมือง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำโขง เป็นพื้นที่กว้าง หลาย 100 ไร่ ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร สร้างความเดือดร้อน เป็นปัญหาในการเดินเรือ และออกเรือหาปลาของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่เคยพบมาก่อนในช่วงฤดูฝน
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดหาดทรายขึ้นกลางน้ำโขง ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ชาวบ้านไม่เคยพบเห็นมาก่อน เนื่องจากหาดทรายท้ายเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในช่วงหน้าแล้งเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี จะพบเห็นหาดท้ายเมืองโผล่ ในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกปี ให้ประชาชนนักท่องเที่ยว ได้เที่ยวชมพักผ่อนธรรมชาติสองฝั่งโขง แต่ช่วงนี้ถือว่าผิดธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝนแต่มีหาดทรายโผล่กลางลำน้ำโขง
นอกจากนี้ยังเป็นที่แปลกใจของชาวบ้าน เนื่องจากมีหาดทรายเยอะกว่าช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ที่สำคัญบริเวณหาดทรายดังกล่าว ยังเป็นหาดทราย ที่มีความแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเม็ดทราย จะเป็นสีเหลืองทอง และพอเกิดหาดทราย จะมีลักษณะเป็นคลื่นที่ถูกน้ำซัด เวลามอง และถ่ายภาพออกมาจะมีลักษณะเหมือนเกล็ดพญานาค และมองคล้ายลำตัวพญานาคยาวตามลำน้ำโขง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติสุดแปลก ทำให้ชาวบ้านแห่ไปชื่นชม และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ด้าน นายอาทิตย์ พนาศูนย์ อายุ 65 ปี ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ ถือว่าระดับน้ำโขงผันผวนมากสุดในรอบ เกือบ 100 ปี โดยจากการศึกษาข้อมูล พบว่าปัจจัยสำคัญมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงของประเทศจีน รวมถึง ใน สปป.ลาว ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ถือเป็นสัญญาณอันตรายในอนาคต ปัญหาขาดแคลนน้ำจะกระทบรุนแรงมากขึ้น และยากที่จะแก้ไข เนื่องจากประเทศต้นน้ำมีการควบคุมระบบน้ำโขง จากเขื่อนไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่สำคัญที่น่าห่วงมากที่สุด คือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ชาวลุ่มน้ำโขงจะเปลี่ยนไป ปลาน้ำโขงจะหายากมากขึ้น รายได้ลดลง เนื่องจากช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลวางไข่ ธรรมชาติปลาน้ำโขง จะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำ ลำน้ำสงครามแต่น้ำโขงแห้ง ปริมาณปลาลดลงแน่นอน ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขงจะต้องรับสภาพเพราะยากที่จะหาทางแก้ไข