“บิ๊กตู่” ไม่ตอบปมถวายสัตย์ปฏิญาณ มอบให้ “วิษณุ” ชี้แจงฝ่ายค้านแทน ระบุไม่แจ้งที่มางบประมาณจัดทำนโยบายรัฐบาลเพราะไม่อาจระบุได้ว่าจะนำรายได้จากจุดใดมาใช้ในเรื่องใด ขอให้รอดูตอนจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. ตามที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ชี้แจงว่า เรื่องไม่แจ้งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายรัฐบาลนั้น รัฐบาลไม่อาจระบุได้ว่าจะนำรายได้จากจุดใดมาใช้ในเรื่องใดบ้าง ขอให้รอดูตอนจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะรู้ว่าเอางบประมาณจากที่ไหนมาทำบ้าง ยืนยันว่าไม่ได้มุ่งหวังรีดภาษีคนจนเพื่อนำมาเป็นรายได้ สำหรับนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงไว้นั้น หากนำมารวมกันจะใช้เงินมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท จึงต้องดูรายละเอียดด้วยว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร แต่นโยบายอะไรที่คล้ายกันก็จะจัดมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ทั้งนี้ นายกฯ ใช้เวลาชี้แจงประมาณ 27 นาที โดยไม่ได้ชี้แจงเรื่องการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนแต่อย่างใด จากนั้นได้ออกจากรัฐสภาปฏิบัติภารกิจอื่นโดยได้ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบเป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้มีการปรับ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ส่ายหัวปฎิเสธที่จะตอบคำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปราย พบว่า บนโต๊ะของนายกรัฐมนตรี มีรายงานหน้าปกเขียนว่า "โครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ" วางไว้ในช่วงที่ฝ่ายค้านกำลังอภิปรายด้วย
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงปมถวายสัตย์ ว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ในคำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3 ก็ระบุว่า เป็นเรื่องระหว่าง ครม.กับพระมหากษัตริย์ ต้องแยกการปฏิญาณตน และ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เช่น ส.ส. ก่อนเข้าสภาต้องปฏิญาณตน แต่ ครม. ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ จบลงด้วยการพระราชดำรัสตอบทุกครั้งไป ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค. เมื่อสิ้นสุดถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ไม่ต้องตีความ นี่คือพระบรมราชานุญาต และปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้น มีการแถลงนโยบาย ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เหมือนทุกรัฐบาล
จากนั้นเวลา 18.18 น.ได้มีการอ่านพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา ปิดประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2562