“เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว” ยกกรณี “ลัลลาเบล” ให้ความรู้ระยะเวลาการตายและการเปลี่ยนแปลงหลังตาย
จากกรณี น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ “ลัลลาเบล” อายุ 25 ปี พริตตี้สาวสวย นอนเสียชีวิตอยู่บนโซฟาในล็อบบี้ชั้นล่างคอนโดมิเนียมย่านรัชดา-ราชพฤกษ์ แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กทม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนต่างอาลัยต่อการจากไปในครั้งนี้ ขณะเดียวกันสังคมต่างกังขาว่าเธอเสียชีวิตได้อย่างไร ซึ่งล่าสุด “น้ำอุ่น” พริตตี้บอย รับงานเอนเตอร์เทน ที่พาเธอไปยังคอนโดมิเนียม ได้ออกมาบอกว่าเป็นคนเธอพาไปที่ห้อง โดยไม่ได้มีการล่วงละเมิดทางเพศผู้ตายแค่ลูบคลำเท่านั้น หลังจากทั้งคู่ไปไปงานปาร์ตี้เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี น้ำอุ่นอ้างว่า ฝ่ายหญิงซึ่งรับงานเอนเตอร์เทนเมาไม่ได้สติจึงอาสาพาไปส่งที่พัก แต่ฝ่ายหญิงหมดสติจึงพามาคอนโดมิเนียมตัวเอง ขณะเดียวกันตำรวจได้มีการเชิญตัว “น้ำอุ่น” ซึ่งอยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้าย ไปให้ปากคำ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. “เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว” โพสต์ข้อความระบุว่า R.I.P. น้องเบลเสียชีวิตก่อนมา รพ. 8-12 ชม.น้องมาถึง รพ.ตี 3 คาดว่าเสียชีวิตตอน15.00-19.00 น. ลองมาทวนวิชานิติเวชศาสตร์ สมัยเรียนหมอปี 5 เรื่อง ระยะเวลาการตายและการเปลี่ยนแปลงหลังตาย โดย พล.ต.ต.นพ.เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์)สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ การหาระยะเวลาการตายว่าผู้ตาย ตายมานานเท่าใดมีความสำคัญทางกฎหมายมากทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ในทางอาญานอกจากจะช่วยบอกว่าการฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด แล้วยังอาจจะช่วยให้สงสัยใครหรือตัดผู้ต้องสงสัยคนใดได้ อาจใช้ช่วยยืนยันหรือหักล้างข้อแก้ตัวของผู้ต้องสงสัย ส่วนในทางแพ่งอาจจะช่วยบอก ได้ว่าใครเป็นทายาทผู้รับมรดก หรืออื่น ๆ เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินประกันชีวิต ฉะนั้นการประมวลเวลาตาย จึงต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลังตายหลายๆอย่างมาประกอบกัน เพื่อให้ได้เวลาที่ใกล้เคียงที่สุด
การตรวจหาระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลังตาย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
1. livor mortis(lividity,postmortem hypostasis) การตกของเลือดตามแรงโน้มถ่วง
2. rigor mortis(rigidity) การแข็งตัวของกล้ามเนื้อ
3. algor mortis(postmortem cooling) การลดลงของอุณหภูมิของร่างกาย
4. degree of decomposition อัตราการเน่า
5. chemical changes after death การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย
6. stomach content ปริมาณอาหารในกระเพาะ
7. insect activity การเจริญเติบโตของตัวหนอน
8. scene marker วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ
สรุปเมื่อประมวลทุกอย่างแล้วการหาระยะเวลาในการตาย
1. ตายใหม่ๆประมาณ 2 – 3 ชม. ตัวอ่อนปวกเปียก และ อาจจะรู้สึกว่ายังอุ่น ๆ(ยกเว้นในการเกิดคาดาเวอริคสปัสซั่ม หรือรายที่แข็งตัวเร็วผิดปกติ)บวกหรือลบ 1-2 ชม.
2. ตายช่วง 6 ชม. แข็งตัวของกล้ามเนื้อของร่างกายบางส่วน แต่ลิวิดิตี้ยังเกิดไม่เต็มที่และยังไม่Fix บวกหรือลบ 3 – 4 ชม.
3. ตายช่วง 12 ชม. แข็งเต็มที่ทั่วทั้งตัว ลิวิดิตี้ปรากฎเต็มที่ บวกหรือลบ 4 –6 ชม.
4. ตายช่วง 18 ชม. แข็งไม่ทั่วตัว แต่ลิวิดิตี้ปรากฎเต็มที่และฟิกซ์ บวกหรือลบ 6 – 8 ชม.
5. ตายช่วง 24 ชม. แข็งไม่ทั่วตัว ท้องน้อยเริ่มทีสีเขียวอาจจะข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ลิวิดิตี้ยังเห็นเต็มที่ บวกหรือลบประมาณ 6 – 8 ชม.
6. ตายช่วง 48 ชม. อ่อนตัว ไม่มีการแข็ง คล้ำตามร่างกายส่วนบน มีเส้นเลือดขึ้นเขียวทั่วไป เริ่มมีอืดพอสังเกตุได้ บวกหรือลบประมาณ 12 –24 ชม.
7. ตายช่วง 4 วัน ขึ้นอืดเต็มที่ ลิ้นจุกปาก ตาถลน หนังลอกตัวบางส่วน ใบหน้าคล้ำจัด บวกหรือลบ 1 – 2 วัน
8. ตายช่วง 7 วัน เนื้อเยื่อเริ่มหายไปบางส่วน เช่น ที่หน้าผากหรือใบหน้า อาจจะมองเห็นกระดูกหน้าผากหรือกระดูกโหนกแก้มบางส่วน บวกหรือลบ 2 – 3 วัน
9. ตายช่วง 2 อาทิตย์ เนื้อเยื่อของร่างกายสลายตัวมากขึ้น อาจจะเห็นกระดูกซี่โครง และ อวัยวะในช่องอกเน่าอยู่ภายใน บวกหรือลบ 5 - 6 วัน
10. ตายช่วง 3 อาทตย์ เนื้อเยื่อสลายตัวมากขึ้น ศรีษะด้านบนอาจจะเหลือแต่กะโหลก ซี่โครงเห็นมากขึ้น เนื้อเยื่อหน้าท้องหายไปเห็นลำไส้และอวัยวะในช่องท้องเน่าสลายตัว บวกหรือลบ 7 – 10 วัน
11. ตายช่วง 1 เดือน เนื้อเยื่อสลายตัวเกือบหมดทั้งตัว แต่ยังมีเนื้อเยื่อเหลือบางส่วนเช่นบริเวณต้นขา สะโพก หรือหลังส่วนที่นอนทับอยู่ บวกหรือลบ 1 – 2 อาทิตย์
12. ตายช่วง 3 เดือน ไม่มีเนื้อเยื่อเหลือเลย กระดูกบางส่วนเช่นนิ้วมือนิ้วเท้าหลุดออกจากกัน แต่กระดูกสันหลังยังยึดติดกันได้ด้วยพังผืด บวกหรือลบประมาณ 1 เดือน
13. ตายช่วง 6 เดือน กระดูกหลุดออกจากกันเป็นชิ้นๆ พังผืดก็สลายตัวหมดแต่ยังอาจจะมีกลิ่นเน่าให้สังเกตูได้ บวกหรือลบประมาณ 2 – 3 เดือน
14. ตายช่วง 1 ปี เหมือน 6เดือนแต่ไม่มีกลิ่นเลยเป็นกระดูกล้วนๆ บวกหรือลบประมาณ 4 – 6 เดือน
ขอบคุณเพจ Infectious ง่ายนิดเดียว