การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่ครั้งโบราณกาล นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค” แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ “พยุหยาตราชลมารค” ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน
การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้น พบหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชา 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง
ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล
ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ หรือเสด็จฯไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่ ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น 4 สาย แล้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100 ลำ
ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน
สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างเรือรบและเรือราชพิธีขึ้นใหม่เนื่องจากเรือที่มีอยู่เดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาไปเป็นจำนวนมาก แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรือรบ เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เรือที่ทรงสร้างในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และเรือโขมดยาปิดทองทึบ
ขอบขอบคุณ . https://phralan.in.th , https://th.wikipedia.org