หลังศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่ง 5 นักศึกษาตัวแทนประเทศไทยที่ชนะเลิศจาก “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 (Robot Design Contest 2017, RDC 2017) เข้าร่วมแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ “IDC Robocon 2017” ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 -19 ส.ค. 2560 ภายใต้โจทย์ “Silk Road” ร่วมกับเยาวชนตัวแทนจาก 8 ประเทศ รวมกว่า 55 คน
ซึ่งเด็กไทยโชว์ศักยภาพได้สุดยอด คว้าหลายรางวัลจากเวทีนี้ ตั้งแต่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากทีมของ น.ส.ฐิติมา สุขจิตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ทีม Skyblue ขณะที่นายสุทิวัส ญาณชโลทร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม Blue คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และนายวิวัฒน์ ศิลารักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทีม White คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3
ด้าน ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “ภูมิใจกับนักศึกษาทุกคนที่มีโอกาสเข้าแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ทำให้ความสามารถด้านหุ่นยนต์ของเยาวชนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากการเรียนแล้วจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย แม้ว่าการแข่งขันหุ่นยนต์จะจำกัดด้วยระยะเวลา แต่เยาวชนไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกในทีมที่แตกต่างทางที่ใช้สื่อสาร หากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ เยาวชนต้นกล้าเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนและเติบโตเป็นบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอนครับ”
ขณะที่ น้องออม น.ส.ฐิติมา สุขจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า ตนได้จับฉลากอยู่ทีม “Sky Blue” ร่วมกับเพื่อนอีก 4 ชาติ คือ อียิปต์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และ จีน โดยตนทำหน้าที่เป็นแมคคานิกส์ คือ ออกแบบหุ่นยนต์ด้านกลไกที่เราออกแบบ มีการลงสนามจริง วัดสนาม ทำอุปกรณ์หุ่นยนต์ ซึ่งที่กลุ่มจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามความถนัดและทักษะของแต่ละคน สำหรับแนวคิดการทำหุ่นของแต่ทีม เราเน้นทำให้ตรงตามโจทย์ที่ได้รับ โดยการทำหุ่นมา 2 ตัว ตัว SEA Robotจะเน้นเรื่องการเก็บลูกปิงปองใส่ในตัวถัง เราก็เลือกใช้หุ่นแบบรอกขับเคลื่อนเทอร์โบ ส่วนหุ่น Land Robot จะเน้นเรื่องการหยิบจับให้แม่นยำมากกว่า
“ความประทับใจที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องทีมเวิร์ก เพื่อนๆในทีมต่างรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคนเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาหุ่นยนต์ของทีมให้ดีที่สุด และอีกข้อคือ ได้รับประสบการณ์มาเยอะมาก ซึ่งเราหาไม่ได้ในห้องเรียน เพราะเวลาลงแข่งทุกแมตช์แน่นอนว่าย่อมต้องมีปัญหามาให้เราแก้ไขทุกครั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็ช่วยกันแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ ส่วนอุปสรรคที่เจอก็จะเป็นเรื่องภาษา ซึ่งยอมรับว่าแรกๆจะไม่ค่อยกล้าพูดคุย เพราะตนพูดอังกฤษไม่เก่งแต่ก็สามารถสื่อสารได้ แต่พอมาช่วงหลังๆที่มีการเบรนด์สตรอมก็เริ่มกล้าคุยมากขึ้นเรื่อยๆ”
รองแชมป์คนเก่งยังฝากไปถึงน้องๆที่จะมาแข่งขันสร้างหุ่นเวทีระดับโลกแบบนี้ว่า ควรมีการเตรียมพร้อมให้ดี โดยเฉพาะเรื่องภาษา รวมทั้งเรื่องความรู้พื้นฐาน เช่น การเขียนโปรแกรม การใช้เครื่องมือช่าง ระบบอิเลคทรอนิกส์ขับเคลื่อน เพราะเวลาทำงานกันเป็นทีมจะเราได้สามารถช่วยเพื่อนในทีมได้เต็มที่