“พุทธิพงษ์”เผยพบเป็นข่าวปลอมไวรัสโคโรนา 22 เรื่อง วอนคนไทยอย่าตื่นตระหนกหรือหลงเชื่อ เปิด 5 ช่องทางให้เข้าถึงข้อมูลจริงที่ได้รับการยืนยันจาก สธ. ล่าสุดจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว 2 ราย
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้ปรากฏข่าวลือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสร้างความตระหนก และหวาดกลัวให้กับคนในสังคม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตปกติ ขณะที่ ในโลกออนไลน์ จะพบข่าวที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาเป็นจำนวนมาก และมีการแชร์โพสต์ทั้งคลิปวิดีโอ รูปภาพ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับไวรัสดังกล่าว ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม ทางกระทรวงฯ ได้มีการตรวจสอบข่าวลือต่างๆ อย่างเข้มข้นผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand เผยแพร่ในช่องทางของศูนย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารความจริง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน
“ช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจำนวนมาก ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกำลังรวบรวมข้อมูลต้นตอการปล่อยข่าวปลอมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีการแชร์จนส่งผลกระทบในวงกว้าง เพื่อส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด จากการทำงานร่วมกันระหว่างดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บก.ปอท. โดย สตช. ได้ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษมาทำงานร่วมกันติดตามทางโซเชียล ออนไลน์ สรุปพบจุดที่เป็นต้นทางนำเข้าข่าวปลอมแล้ว 15 จุด มีการขอศาลออกหมายค้นและปฏิบัติการตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ถึงช่วงเช้าวันนี้ ทำการเข้าตรวจค้นทั้ง 15 จุดดังกล่าว และสามารถตรวจพบผู้ที่คิดว่าน่าจะเข้าข่ายผิด ปล่อยข่าวปลอม 6 จุด โดยในจำนวนนี้ดำเนินการสอบสวนพบว่ามีความผิดจริง และดำเนินการจับกุมแล้ว 2 ราย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ส่วนอีก 4 ราย จากการสอบสวนถึงเจตนา และไม่พบความตั้งใจในการสร้างความเสียหาย จึงทำการตักเตือน และลงบันทึกประจำวันไว้ สำหรับในพื้นที่อีก 9 จุด หน่วยปฏิบัติการพิเศษของ สตช. กำลังติดตามหาตัวผู้กระทำผิดอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งอุปสรรคส่วนหนึ่งคือ ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าข้อมูลข่าวปลอมใช้พื้นที่อื่นลงทะเบียน หรือไม่ได้ใช้ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่จริง ทำให้ต้องใช้เวลาติดตาม
ทั้งนี้ จากการมอนิเตอร์และรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค.2563 พบว่า มีจำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 7,587 ข้อความ แต่มีจำนวนที่ต้องตรวจสอบยืนยัน (Verify) 160 ข้อความ โดยพบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 26 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 22 เรื่อง และข่าวจริง 4 เรื่อง
โดยข่าวปลอม ได้แก่ 1.กรมควบคุมโรค หยุดใช้เครื่องตรวจวัดฯ ไวรัสโคโรนาฯ 2. สเปรย์พ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 3. พนักงานการบินไทยติดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา 4. กรมควบคุมโรคยกเลิกการคัดกรองผู้โดยสารด้วยเทอร์โมสแกน 5. คลิปสุดช็อก ไวรัสโคโรนา ทำคนล้มทั้งยืน 6. เชื้อไวรัสโคโรนาฯ ติดต่อผ่านการมองตาได้ 7. พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา 1 ราย 8.พบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้อไวรัสโคโรนา รักษาตัวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 9. พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา เสียชีวิตที่ จ.ภูเก็ต เพิ่ม 1 ราย 10. ผู้ป่วยติดเชื่อไวรัสโคโรน่า เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จ. นครราชสีมา 11. สีจิ้นผิงสั่งใช้กฏหมายสูงสุด วิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ 12. วิธีป้องกันคือ ต้องรักษาความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกลำคอฯ 13. รัฐบาลจีนปิดบังข้อมูล แท้จริงมีผู้ติดเชื้อ 90,000 ราย 14. ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้เสียชีวิตทุกรายในเวลาอันสั้น 15. เตือน! เขตคลองเตยให้ใส่แมส รอฟังแถลงข่าวฯ 2 รายในไอซียู 16. ชื้อ H3N2 ระบาดถึงเชียงใหม่ ‘ไวรัสโคโรนา” ตัวใหม่จากอู่ฮั่น 17. เชื้อไวรัสโคโรนาทำพิษ ชาวจีนล้มตึงกลางกลางสุวรรณภูมิ 18. แพทย์ชี้นั่งเครื่องพร้อมผู้ป่วยไวรัสโคโรนา มีโอกาสติดเชื้อทั้งลำ 19. พบผู้ติดเชื้อโคโรนาที่จังหวัดศรีสะเกษ 20. ล่าสุดกรุงเทพติดเชื้อไวรัสโคโรนา 5 ราย21. เชื้อไวรัสโคโรนาระบาดหนัก คาดคนตายนับไม่ถ้วน รัฐสั่งทุกสื่อปิดข่าว และ 22. แชร์ว่อน!! ยืนยันสนามบินภูเก็ต ไร้จุดคัดกรอง "ไวรัสโคโรนา"
ส่วนข่าวจริง ประกอบด้วย 1.กรมควบคุมโรคยืนยันไม่หยุดคัดกรอง และเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ จริงหรือ? 2. ประกาศ!! หน้าเว็บโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนามีการปรับเปลี่ยนลิงค์ที่เผยแพร่ใหม่ จาก .html เป็น php จริงหรือ? 3. ผู้ป่วยไวรัสโคโรนา จ.นครปฐม ผลตรวจเป็นลบ สธ.รับมือเข้ม ชี้ชัดไม่พบการระบาดในไทย จริงหรือ? และ 4. คปภ.แจง ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยการเดินทาง คุ้มครองโรคไวรัสโคโรนา
นายพุทธิพงษ์ กล่าวย้ำว่า กระทรวงมีความห่วงใยประชาชนเรื่องข่าวลือ ข่าวปลอม ขอให้อย่าตื่นตระหนกและหลงเชื่อข่าวลือต่าง ๆ ควรจะหาข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนจะแชร์จะบอกต่อ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะมีการเฝ้าระวังและมีการชี้แจงสถานการณ์ตามข้อเท็จจริงโดยไม่ปิดบังข้อมูลใด ๆ โดยศูนย์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) จะมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์และเป็นข่าวที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center (https://www.facebook.com/AntiFakeNewsCenter/) ทวิตเตอร์ @AfncThailand (https://twitter.com/afncthailand) และไลน์ออฟฟิเชียล @antifakenewscenter
ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมดำเนินการตรวจสอบข้อความจากช่องทางต่างๆ และการใช้ Social Listening Tool กว่า 2.16 ล้านข้อความ แบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ หมวดสุขภาพ 61% หมวดนโยบายรัฐ 27% หมวดเศรษฐกิจ 10% หมวดภัยพิบัติ 2 เปอร์เซ็นต? โดยได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเจ้าของเรื่องในการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งจัดจัดทำข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่ายพร้อมภาพประชาสัมพันธ์ (Infographic) ให้แก่ประชาชนรับทราบไปแล้วกว่า 146 เรื่อง ซึ่งพบว่า หมวดสุขภาพจะมีความเชื่อกันได้ง่ายแชร์ต่อบอกต่อกันได้ง่าย และจะเห็นเปอร์เซ็นว่าเยอะกว่าทุกหมวด
“ขณะนี้เข้าใจว่าอารมณ์คนไทยมีความตื่นตระหนก ดังนั้น หากเจอข่าวแปลกๆ และไม่มั่นใจ อย่าเพิ่งแชร์ หรือส่งต่อ ขอให้มีการตรวจสอบกับสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ส่วนการป้องกัน ขอแนะนำว่า หลักการเหมือนกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ คือ หลีกเลี่ยงการไปในที่มีคนแออัด ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว