ดีเอสไอยุคไร้ "ไพสิฐ" อนาคตที่ยังรอคำตอบ

2020-03-30 16:00:13

ดีเอสไอยุคไร้ "ไพสิฐ" อนาคตที่ยังรอคำตอบ

Advertisement

2 เมษายน 2563 การลาออกจากอธิบดีดีเอสไอ ของ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง จะมีผลสมบูรณ์


เท่ากับ พ.ต.ท.กรวัชร ปานประภากร รักษาการแทน (รรท.) อธิบดี DSI จะมีอำนาจเต็มระดับหนึ่ง ในการบริหารจัดการทั้งภายในและภารกิจที่ยังค้างคาอยู่ของดีเอสไอ

ที่ว่า "อำนาจเต็มระดับหนึ่ง" เพราะมือปราบรถยนต์หรู ยังเป็นเพียงรักษาการแทนอธิบดี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรียุติธรรม ที่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง เพิ่งเรียกประชุมเมื่อวันก่อนและระบุว่า ยังไม่รู้ใครจะเป็นอธิบดีคนใหม่ และอาจใช้เวลาถึง 3 เดือนก็เป็นได้

ที่สำคัญ มีการตำหนิการทำงานภายใต้รักษาการแทนของ พ.ต.ท.กรวัชร ว่าเอื่อยเฉื่อย ควรจะเร่งผลักดันให้มีผลงาน โดยอ้างเหตุผล ประชาชนเฝ้าจับตาดูอยู่

คลายมีนัยไม่ปลื้มผลงาน พ.ต.ท.กรวัชร นั่นอาจหมายความว่า รรท. อาจไม่ได้ไปต่อบนเก้าอี้ใหญ่ตัวนี้ เว้นแต่จะมีผลงานเข้าตาประชาชน จนเปลี่ยนตัวเป็นคนอื่นไม่ได้

ความจริงดีเอสไอ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่สะสางคดีสำคัญๆที่มีความสลับซับซ้อน หรือคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายในทางธุรกิจจำนวนมาก และไม่อาจใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป เข้าไปคลี่ปมดำเนินการได้ เหมือนกรณีเอฟบีไอในสหรัฐ

แต่ในทางปฏิบัติของไทย กลับกลายเป็นศูนย์รวมของคดีความต่างๆ ทั้งน้อยทั้งใหญ่ ที่มีนักการเมืองหรือคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีคดีที่มีคนจำนวนมากตกเป็นผู้เสียหาย อย่างเช่นคดีแชร์ลูกโซ่ หรือแม้แต่คดีฆาตกรรมบางคดี ก็จะถูกส่งไปที่ดีเอสไอ แทนที่จะเป็นคดีความของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเหตุผลข้ออ้างสำคัญ คือเกรงจะไม่ได้รับความยุติธรรม

จำนวนคดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบ จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คดีที่แล้วเสร็จมีค่อนข้างน้อย และบางคดี มีคำถามถึงความรอบคอบหรือความหละหลวมตามมา เช่น คดีกะเหรี่ยงแก่งกระจาน นายพอละจี หรือบิลลี่ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือแม้แต่คดีปั่นหุ้น ที่เรื่องถูกส่งมาจาก ก.ล.ต.แต่สุดท้ายถูกเป่าคดี

ดีเอสไอที่เคยเป็นหน่วยงานที่ผู้คนคาดหวัง จึงถูกวิพากษ์ว่าถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ไม่เป็นอิสระจริง นอกจากนี้ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในคดีที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ


พ.ต.ท.กรวัชร ก่อนหน้านี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นมือปราบรถยนต์หรู และเป็นที่คาดหวังของภาคประชาชนเรื่องคดีอุ้มหายกะเหรี่ยงบิลลี่ แต่สุดท้ายถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจการพร้อมเหตุผลเพื่อความก้าวหน้าในเส้นทางข้าราชการ ก่อนจะขยับขึ้นรักษาการอธิบดี ช่วงที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ พักรักษาตัวและผ่าตัด แต่ก็เป็นเพียงรักษาการ และมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะไม่ได้ไปต่อ

ขณะที่คดีรถยนต์หรูนำเข้าสำแดงเป็นเท็จเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2560 หลายสิบคัน ก็มีข่าวว่าดีเอสไอโดนกำลังภายในจาก "ขาใหญ่" สุดท้ายต้องถอนอายัดส่งคืนให้บริษัท ส่วนคดีนายบิลลี่ อัยการสั่งไม่ฟ้อง แรกๆมีข่าวว่าดีเอสไอจะทำความเห็นแย้งในกรอบเวลา 1 เดือน แต่สุดท้ายก็เงียบหาย ไม่มีข่าวความคืบหน้า

ว่ากันว่า นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ดีเอสไอ ระลอกแล้วระลอกเล่า กระทั่ง พ.ต.อ.ไพสิฐ ถูกความเครียดเล่นงาน กระทั่งเป็นอาการปวดศีรษะเรื้องรัง ต้องพักการทำหน้าที่อธิบดี แต่ถึงแม้จะเข้าโรงพยาบาลรักษาด้วยการผ่าตัด ก็ยังไม่หาย กระทั่งสุดท้าย ต้องตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก

สำหรับคดีความสำคัญๆ ที่มีแรงกดดันถึงผู้บริหาร โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ไพสิฐ มีตั้งแต่คดีฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินของธัมมชโย วัดพระธรรมกายเชื่อมโยงกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่งแตกแยกย่อยอีกหลายคดี คดีปั่นหุ้น คดีนายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่ที่ดินพังงาสาขาท้ายเหมือง เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาโดยใช้เชือกผูกรองเท้าแขวนกับประตูบานพับในดีเอสไอ คดีแชร์ฟอเร็กซ์ 3 ดี คดีแชร์แม่มณีและคดีแชร์ลูกโซ่อื่นๆ และล่าสุด คดีกะเหรี่ยงบิลลี่

ล้วนเป็นปมเร่งเร้า ส่งแรงกดดัน รวมกระทั่งถูกจับตา จังหวะก้าวต่อไปของดีเอสไอ ภายใต้ผู้นำองค์กรคนใหม่

แต่สำคัญที่สุด คือความเป็นอิสระ น่าเชื่อถือ ปราศจากคนนอกเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

ห้ามโดยเด็ดขาด