เป็นไปตามคาดหมาย และเป็นไปตามกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกนอกเคหะสถานที่พักหลัง 4 ทุ่มถึง ตี 4 เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือยกเว้น
เคอร์ฟิวสำหรับบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีประกาศใช้มาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่มักมีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองและความมั่นคง
คำสั่งห้ามออกจากบ้านในยามวิกาล ช่วงมีการเปลี่ยนแปลงหรือยึดอำนาจ แต่ก็มีบางครั้ง ที่ไม่ได้ใช้เคอร์ฟิวกับคนโดยตรง แต่มีผลถึงข้อห้ามการเดินทาง หรือห้ามออกไปนอกบ้านโดยปริยาย เช่น การปิดเปิดปั๊มน้ำมันเป็นเวลา พอใกล้ 6 โมงเย็นต้องรีบเข้าปั๊มเติมน้ำมัน
แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องโรคระบาดติดต่อรุนแรง โดยโควิด 19
แม้ตัวเลขการติดเชื้อในไทยจะไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีคนติดเชื้อเป็นหลักหมื่นหลักแสน ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักหลายพันคน
แต่ประเทศไทยก็มีคนติดเชือเพิ่มแบบรายวัน วันละ 100 คนขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้เสียชีวิตแบบรายวันเช่นกัน แม้จะมีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลตั้งแต่ 26 มีนาคม 63 มาแล้ว
แม้หลายฝ่ายจะพอใจกับอัตราการขยายตัวของผู้ติดเชื้อ จะต่ำกว่า 10% นานร่วมสิบวันติดต่อกัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเวิร์สเคส เซนาริโอ หรือกรณีแย่ที่สุด ที่บรรดาคณาจารย์และบุคคลากรทางการแพทย์ได้เคยฉายภาพให้รัฐบาลได้เห็นมาแล้ว หากยังปล่อยปละ ไม่เข้มข้นเอาจริงเอาจัง
แต่ก็มีคนอดเป็นห่วงและกังวลใจไม่ได้ว่า หากตัวเลขติดเชื้อแต่ละวันจะอยู่เฉพาะวงในคนที่มีอาการหร้อติดเชื้อ แล้วเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจเชื้อและรักษาเท่านั้น อาจจะเป็นปัญหาในทางรับมือและรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้ เพราะอาจไม่ได้หมายความว่า เป็นฐานข้อมูลที่เป็นจริง
โดยตั้งข้อสงสัยไปที่ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มแต่ละวัน ตัวเลขกลับไปกลับมา เดี๋ยวเพิ่มเดี๋ยวลด ทำให้กราฟไม่เป็นในแนวทะแยงขึ้นเหมือนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ
เช่นเดียวกับเฟซบุ๊คของ "หมอเวร" ที่เปิดประเด็นความขัดแย้งตั้งแต่ต้น ระหว่างภาครัฐ กับ รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน เป็นเสมือน 3 ฝ่าย 3 ขั้ว ที่ต่างฝ่ายต่างระวังไม่ให้กระทบตนเอง ข้อมูลและการสื่อสารจึงไปคนละทาง
ที่สำคัญ มึนัยชวนข้องใจสงสัยว่าการตรวจหาผู้ป้วยของไทย ยังอยู่ในวงคนไม่เกิน 5 หมื่นคน จึงทำให้จำนวนคนติดเชื้อยังมีไม่มาก
หรืออาจเป็นปัจจัยพื้นฐานประกอบ สำหรับการยกระดับใช้มาตรการที่เข้มขึ้น โดยการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล
แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่อย่างไรก็ตามที ที่แน่ๆ แฟคเตอร์สำคัญอย่างหนึ่ง มาจากเป้าหมายต้องการให้ผู้คนลดการเดินทาง สัญจรไปมาหาสู่กันให้น้อยลงไปกว่าที่ทำได้ เมื่อเปรียบกันระหว่างวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม กับวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม
ทั้งเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟ ระหว่างเมือง ทางเรือ และเครื่องบิน อัตราเฉลี่ยลดลงแค่ 40% จากเป้าที่ต้องทำให้ได้ 90%
ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สื่อสารอย่างมีนัยชัดแจ้งแล้วว่า เมื่อขอความร่วมมืออยู่กับบ้านเพื่อลดการเดินทางไม่ได้ ก็ต้องใช้มาตรการงดให้บริการ
จึงได้เห็นการประกาศงดให้บริการเดินทางของ บขส. และรถทัวร์ประจำทาง รถไฟ เครื่องบิน แม้กระทั่งทางเรือ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
ก่อนจะถึงมาตรการล่าสุด ประกาศเคอร์ฟิว ประเดิมจาก 4 ทุ่มถึงตี 4 ทั่งยังมีข่าวแว่วๆจากวงในทำเนียบรัฐบาล มาตรการเข้มข้นอันดับถัดไป อาจถึงเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง คือปิดบ้านปิดเมืองเลยทีเดียว
มาตรการเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงที่ผู้นำรัฐบาลประกาศใช้ เริ่มตั้งแต่ 3 เมษายน ความจริงก็ไม่ได้ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนัก เพราะในกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ กทม. ก็ประกาศปิดร้านรวง รวมกระทั่งร้านขายอาหารข้างทาง ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปอยู่แล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายๆจังหวัด ที่ผู้ว่าฯประกาศปิดเมือง ปิดสถานที่สุ่มเสี่ยง ประกาศล็อคดาวน์ และเคอร์ฟิวหลายพื้นที่ แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงมาตลอด ยังต้องเจอคำสั่งให้ปิดเปิดเป็นเวลา
หากไม่เข้มข้นจริงจัง มีแนวโน้มสูงครับว่า ประเทศไทยจะเอาไม่อยู่
หลายคนว่า ช้าไปด้วยซ้ำครับ