รัฐบาลประกาศนโยบายชัด สนับสนุนให้ผู้คน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" สะกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกเหนือจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจผู้ว่าฯพิจารณาออกคำสั่งที่เห็นสมควร รวมกระทั่งประกาศเคอร์ฟิว
จุดประสงค์ล้วนมุ่งหวังให้คนงดการเดินทาง ลดโอกาสติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ ไม่ให้ลุกลามบานปลายเหมือนในหลายประเทศที่ "เอาไม่อยู่"
คุณหมอคุณพยาบาล นอกจากต้องรักษาผู้ป่วยแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนแล้ว ยังช่วยกันรณรงค์ขอให้คนไทยอยู่บ้าน ลดการเพิ่มภาระให้บุคคลากรทางการแพทย์
คนในประเทศส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดต่างให้ความร่วมไม้ร่วมมือเต็มที่ สมัครใจอยู่กับบ้านบ้าง เวิร์คฟอร์มโฮมบ้าง แม้จะมีบ้างบางส่วนซื้อสินค้าไปตุนไว้ที่บ้าน แต่ก็เพื่อเตรียมพร้อม และขานรับนโยบายรัฐบาล
แล้วสุดท้าย บางส่วนก็หน้าแห้งหน้าเหี่ยว ลงทะเบียนขอรับเยียวยา 5 พันก็ไม่ผ่าน เงินทองขาดมือไม่มีมีเหลือ ต้องอาศัยไปต่อคิวรับบริจาคข้าวกล่องน้ำเปล่า ก็โดนจวกไม่กลัวโควิด-19 เสี่ยงติดโรค คนมีสมาร์ทโฟนอุตส่าห์ดีใจ กสทช.ให้ใช้บริการเน็ตฟรีคนละ 10 กิ๊กกะไบค์ 1 เดือนถึง 30 เมษายน แต่ไปๆมาๆกลายเป็นบริการที่ผู้คนเรียกกันว่า "เน็ตกาก" มิหนำซ้ำ ได้ใช้ฟรีแค่ 4-5 วันก็ได้รับข้อความ has been used up หรือแปลเป็นไทยว่า ได้ใช้หมดแล้ว ถ้าจะใช้ต่อ ต้องไปเลือกแพคเก็จของค่ายนั้นๆเอา นั่นหมายถึงต้องกลับไปเสียเงิน
นโยบายให้คนอยู่บ้าน งดการเดินทาง มีหลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยค่าน้ำค่าไฟผู้ประชาชนด้วยซ้ำ แต่นอกจากแนวทางนี้ไม่มีเสียงขานรับใดๆแล้ว ยังมีเสียงร้องจ๊ากโดยถ้วนหน้าจากค่าบิลไฟฟ้าที่หลายคนเรียกว่า ค่าไฟฟ้ามหาโหด ที่ได้รับในช่วงนี้
สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า เสียงสะท้อนผ่านโลกโซเชียลนี้ ดังมาจากทั้งชาวบ้านทั่วไป ที่บางคนนำบิล 2 เดือนมาแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ดารานักร้อง แม้กระทั่งสามีของดาราชื่อดังอย่าง เบนซ์-พรชิตา
กระทั่ง ส.ว. อย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน ยังโพสต์ข้อความถามไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงมีชาวบ้านร้องทุกข์มาเยอะขนาดนี้
เป็นความทุกข์ร้อนที่ถาโถมเข้าใส่ในช่วงที่ประชาชนต่างเดือดร้อนแสนเข็ญอยู่แล้ว ส่วนข้ออ้างจากการไฟฟ้าฯ เรื่องคนอยู่บ้าน เปิดแอร์เยอะ เปิดตู้เย็นบ่อย ก็อาจใช้ได้เพียงคนที่บ้านมีฐานะ มีแอร์ มีของกินในตู้เย็นเยอะ แต่ไม่ได้ครอบคลุมคนส่วนใหญ่ ซึ่งอย่างดีก็มีแค่พัดลม หรือสายชาร์จโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
แล้วมันจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าได้อย่างไร ถึงแม้จะพยายามอ้างเรื่องอัตราก้าวหน้า หรือค่าผันแปรพ่วงเข้ามาอีก ก็ยังแพงกว่าควรจะเป็นอยู่ดี
มีอะไรเกี่ยวโยงกับนโยบายขอคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวลือกระฉ่อนว่า การขอคืนดังกล่าวมีเงื่อนไขสาระพัด ถึงขั้นหากมิเตอร์เสียหาย ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบแทน กระทั่งบางคนตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการเอาคืนจากการไฟฟ้าฯหรือไม่ หลังจากที่ผ่านมาการแจ้งขอคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้ามีปัญหาตั้งแต่เว็บล่ม ลงทะเบียนไม่ได้ ต่อเนื่องเรื่อยมา
ยังไม่นับรวม การใช้เอ้าท์ซอสหรือบริษัทเอกชนเข้ามาดำนินการแทนเรื่องถอดมิเตอร์ไฟฟ้า หากจ่ายเงินค่าบริการล่าช้า แทนจะโอนอ่อนตามสถานการณ์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และการติดตั้งคืน ผู้ใช้ก็ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 100 บาทเพิ่มภาระเข้าไปอีก
ความเดือดร้อนจากการร้องเรียนถึงความผิดปกติของค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค และกกพ.หรือคณะกรรมการกำกับพลังงาน ต้องแจกแจงอธิบาย รวมถึงต้องตระหนักและหาทางผ่อนคลายค่าใช้ไฟฟ้าของผู้คนในยามที่ทุกข์ยาก ตกงาน ถูกเลิกจ้าง และไม่มีรายได้ในขณะนี้ สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ทีมีต่อประชาชนให้ได้
ใช้ไฟฟ้าฟรี 1-2 เดือน หรือลดค่าไฟฟ้าให้ครึ่งหนึ่ง ระหว่างผู้คนซวนเซจากพิษโควิด-19 ได้ไหม เพราะธุรกิจรายใหญ่ๆของบรรดาเจ้าสัว ยังได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการ 1.9 ล้านล้านบาทได้เลย ผ่านทั้งโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องมีเอกชนยักษ์ใหญ่เข้าร่วม รวมทั้งการให้แบงก์ชาติกันเงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อซื้อตราสารหนี้เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ออกตราสารขอกู้เพื่อขยายกิจการของตนเองทั้งสิ้น และหลายรายก็อยู่ในลิสต์ 20 เจ้าสัว
ถ้าทำได้ เอาไปเลยครับหัวใจและคะแนนนิยมจากประชาชนตาดำๆทั้งประเทศ