กรมวิทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล แพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แถลงผลสำเร็จตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลาย แทนการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก รู้ผลภายใน 45 นาที แถมประหยัดกว่า
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ศ.ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธารา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อานวยการกองสนับสนุนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จ “การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางน้ำลายและการใช้เทคโนโลยี LAMP PCR” ด้วยในปัจจุบัน การวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 ใช้ตัวอย่างตรวจจากทางเดินหายใจส่วนต้น โดยการเก็บตัวอย่างตรวจจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal) และลำคอ (throat) โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจนั้นต้องใช้อุปกรณ์การเก็บ (swab) ซึ่งเก็บสิ่งส่งตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้รับการตรวจอาจมีความระคายเคืองและเจ็บจากการเก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งบุคลากรผู้เก็บตัวอย่างมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ยังเป็นปัญหาทั่วโลก
จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าต่อมน้ำลายมีตัวรับ (receptor) ของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 และพบว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรคโควิด-19 แล้ว สามารถตรวจพบเชื้อได้ในน้ำลายในช่วงที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ โดยคณะผู้วิจัยต้องการศึกษาความสามารถของการใช้น้ำลายเพื่อการวินิจฉัยโควิด-19
คณะผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างน้ำลาย และตัวอย่างตรวจจากโพรงหลังจมูกและลำคอ จากผู้เข้ารับการตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI clinic) ในโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่อายุมากกว่า 18 ปี มีอาการทางเดินหายใจและเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ใน กทม.จำนวน 200 ราย โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจบ้วนน้ำลายใส่กระป๋องก่อนทำการเก็บตัวอย่างมาตรฐาน คือ ตัวอย่างจากโพรงหลังจมูกและลำคอ และนำมาตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยการทดสอบ RT-PCR ในตัวอย่างน้ำลาย จากการศึกษานี้พบเชื้อ SARS-CoV-2 จากการตรวจจากตัวอย่างมาตรฐาน 19 ราย (ร้อยละ 9.5) และตรวจพบ SARS-CoV-2 จากการตรวจตัวอย่างน้ำลาย 18 ราย (ร้อยละ 9.0) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐานพบว่าการทดสอบ RT-PCR ในน้ำลาย มีความไว (sensitivity) ร้อยละ 84.2 ความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 98.9 และมีความสอดคล้องของผลตรวจ (agreement) ร้อยละ 97.5
จากผลการศึกษาพบว่าการใช้น้ำลายเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 มีความไวและความจำเพาะสูง การเก็บน้ำลายเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 มีความเป็นไปได้ในการนำไปต่อยอดในการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และสถานที่ที่มีทรัพยากรจำกัด เนื่องจากการตรวจมีความสะดวก และสามารถเก็บตัวอย่างได้รวดเร็วในกลุ่มประชากรจำนวนมากได้ อีกทั้งยังสามารถลดการใช้ PPE และอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ คณะผู้วิจัยกำลังดำเนินการศึกษาวิธีการตรวจหาการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่มีความไวสูง เพื่อเป็นเครื่องมีในการวินิจฉัยโควิด-19 ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
วิธีการตรวจ คือ ให้คนไข้บ้วนน้ำลายใส่กระป๋องเก็บตัวอย่างที่มีน้ำยารักษาคุณภาพเชื้อ เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติปลอดเชื้อระดับ 2 ใช้เวลาเพียง 45 นาทีก็ทราบผลการตรวจ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายถูกกว่าถึง 5 เท่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยใช้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง โดยคณะวิทยาศาสตร์ และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอโครงการดังกล่าว เพื่อขอรับงบประมาณจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 12.9 ล้านบาทและมีแผนที่จะเสนอรับงบเพิ่มอีก 20 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาชุดตรวจ RT-LAMP หรือ เทคโนโลยีชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยไฟเปลี่ยนสี เพื่อมอบให้แก่รัฐบาล 50,000 ชุด คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานสัปดาห์หน้า