พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ดูแลกองทัพและตำรวจเหมือนก่อน
และถึงจะเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนหัวหน้าพรรคที่สามารถลงนามในฐานะผู้นำพรรคที่มีผลทั้งทางนิตินัยและทางปฏิบัติ และยังไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายด้วย
ประธานยุทธศาสตร์พรรค ความจริงเป็นเพียงตำแหน่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น เพื่อรองรับบุคคลสำคัญๆพรรคในกรณีที่หาที่ลงไม่ได้ หรือตำแหน่งอื่นดูต่ำชั้นเกินกว่าจะไปนั่ง ไม่เชื่อลองถามคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แห่งพรรคเพื่อไทยดูปะไร
ไม่ต่างจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษของพรรคเพิ่อไทยเช่นกัน ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่งอยู่
ยิ่งในกรณีไม่ได้ผ่านสนามเลือกตั้ง เป็น ส.ส. หรือตัวแทนท้องถิ่น ตำแหน่งเหล่านี้ รู้จักกันดีว่าเป็น "ตำแหน่งลอย" หรือ "ขาลอย" เสถียรภาพง่อนแง่นไม่มั่นคง
วันดีคืนดีมีการปรับ ครม. จับพลัดจับผลูไม่ได้นั่งเก้าอี้ต่อ หรืออาจมีข้ออ้างเรื่องสุขภาพที่ "บิ๊กป้อม" เคยพูดไว้หลายครั้ง สถานภาพจะเปลี่ยนแปลงทันที กลายเป็นอดีตรองนายกฯ
ดังนั้น ในทางการเมืองจึงต้อง "แผน 2" สำรองไว้เสมอ หากไม่ต้องการให้สถานภาพและบารมีของตนถดถอยลง แม้จะยังมีมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นฐานบัญชาการทางการเมืองที่เกรียงไกรก็เถอะ ถึงตอนนั้น มนต์ขลังจะลดลงตามอำนาจที่ถูกตัดทอนก็เป็นได้
นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ที่ทำให้เกิดกระแสข่าวลือ(ที่มีบางส่วนจริง) บิ๊กป้อมจะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพรรคพลังประชารัฐ โดยขยับไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแทนที่นายอุตตม สาวนายน หนึ่งใน 4 กุมารใกล้ชิดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฝ่ายการเมืองสายเลือกตั้ง ไม่ค่อยจะ "เป็นปลื้ม" มาแต่ไหนแต่ไร
ด้วยสาเหตุสำคัญ คือนั่งทับโควต้ารัฐมนตรีซึ่งมีอยู่จำกัดจำเขี่ยมากเกินไป (อย่างน้อย 4 ตัว) นอกจากนี้ ยังไม่ยอมเข้าใจธรรมชาตินักการเมืองโดยเฉพาะ ส.ส. ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพื้นที่ไม่ให้ถูกคู่แข่งในสนามเลือกตั้งเข้าแซะหรือบั่นทอนฐานเสียงได้
พูดง่ายๆคือมือไม่เติบ ไม่เป็นสายเปย์ ใจไม่ถึง พึ่งไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายอุตตม แต่ยังรวมถึงเลขาการพรรคอย่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่โดนขย่มมาแล้วอย่างน้อย 2 ระลอก เพราะแต่ไหนแต่ไรมา เลขาธิการพรรคการเมือง ต้องมือเติบ ใจถึง พึ่งได้
พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมาจากหลากหลายกลุ่มมารวมตัวกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะมีการทวงเก้าอี้รัฐมนตรีเกิดขึ้นทั้งในพรรคและทวงข้ามพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล รวมทั้งการขับไล่ผู้ก่อตั้งและเป็นหนึ่งในแกนนำพรรคให้พ้นจากตำแหน่ง หรือแม้แต่การแสดงพลังผ่านการจัดเลี้ยง "โต๊ะจีน" โชว์ศักยภาพและจำนวน ส.ส. ในสังกัด ชนิดที่กองเชียร์ "นายกฯลุงตู่" หายใจไม่ทั่วท้อง
ต้องอาศัยความเด็ดขาดของ "ลุงตู่" สยบรอยร้าวและยุติข้อเรียกร้องต่างๆแบบไม่สนใจความต้องการของกลุ่มก๊วนต่างๆในพรรค
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการรอคอยให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีแกนนำจากกลุ่มก๊กต่างๆที่พลาดหวังจากการตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัย 2 หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 ทั้งนายอนุชา นาคาศัย จากกลุ่ม 3 มิตร นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส. และอีกหลายกลุ่ม ต่างก็ลุ้นจะถึงคิวเป็นรัฐมนตรีบ้าง
จึงมีความเคลื่อนไหว โดยพยายามเข้าหา "บิ๊กป้อม" ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนภาพ "ขาลอย" ให้เห็น และเริ่มจังหวะก้าวจากการปรับเปลี่ยนกรรมการพรรคชุดใหม่ก่อน แล้วค่อยไปถึงการปรับ ครม.
เผอิญว่า เกิด "โป๊ะแตก" มีการปล่อยข่าวเรื่องนี้ออกสู่ภายนอกพรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นทำทีมี "ไลน์หลุด" ก็มี จนกลายเป็นประเด็นใหญ่บนหน้าสื่อ ท่ามกลางสถานการณ์ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับเรื่องโควิด 19
ถึงตอนนี้ ฟันธงได้เลยว่า "จบข่าว" เพราะมาผิดจังหวะผิดเวลา แต่จะถึงขั้นจบถาวรหรือไม่ ก็ฟันธงได้เช่นกันว่า ไม่
เพราะการเมือง เป็นเรื่องของอำนาจ บารมี ชื่อเสียง และผลประโยชน์ตลอดกาล
หรือใครจะเถียงครับ