ครั้งแรก แปลกใจที่อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ตั้งแต่วางแผนและเผื่อเวลาเดินทาง รักษาสุขภาพ สวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม
แทนที่จะขอความร่วมมือไปยังผู้ได้รับสัมปทานเดินรถ ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. สำหรับ MRT และ บมจ..ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำหรับ BTS
โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โควิด 19 จะสิ้นฤทธิ์เดชในประเทศไทย หรือจะอาศัยจังหวะชุลมุนช่วงผ่อนคลายมาตรการสำหรับการไปต่อระลอก 2 หรือ เซกัลด์ เวฟ
เพราะการผ่อนคลายมาตรการของรัฐที่ผ่านประกาศศูนย์บริหารสถานการณโควิด 19 หรือ ศบค. ยังต้องมีข้อพึงปฏิบัติด้านระบบสาธารณสุขและมาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO อย่างเคร่งครัด การ์ดไม่ตก
ไม่ว่าจะเรื่องเจลกอฮอล์ล้างมือ การสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ และการเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือ Social Distancing
รถไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในการให้บริการประชาชนที่จัดได้ว่ามีมาตรฐานสากล และเป็นที่พึ่งพาการเดินทางของคนในเมืองหลวงและปริมณฑลอย่างมากในขณะนี้ ข้อพึงระวังและต้องปฏิบัติตาม เป็นที่จะปฏิเสธไม่ได้
จะอ้างความไม่มีระเบียบของผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าไม่ยอมให้ความร่วมมือเอง ทั้งจุดยืนรอที่สถานี และในรถไฟฟ้าที่ไปยืนใกล้กันเอง ไม่น่าจะนำมาใช้เป็นเหตุผลได้
เว้นแต่ผู้ให้บริการจะเลินเล่อ หละหลวม ทำตัวเสมือนรู้เห็นเป็นใจ ทั้งที่ทราบดีว่า ในสถานการณ์โควิด 19 กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดมาตรการคุมเข้มเพื่อสะกัดกั้นทุกวิถีทาง
ไม่ใช่หวังแค่เรื่องรายได้ และจำนวนคนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ เพียงเพื่อหวังชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงก่อนหน้านี้ ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มโครงการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เรียกร้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงและงดการเดินทาง
เมื่อดูตัวเลขผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า วันที่ 1 พฤษภาคม 63 ทั้งระบบมีเกือบ 188,989 คน แต่เมื่อมีมาตรการคลายล็อค 3 พฤษภาคม ในวันถัดมาคือ 4 พฤษภาคม มีคนใช้เพิ่มขึ้นเป็น 395,062 คน หรือประมาณ 2 เท่า
แบ่งเป็นแอร์พอร์ตลิงก์ 19,081 คน รถไฟใต้ดินหรือ MRT 140,530 คน รถไฟฟ้าบนดิน หรือ BTS 233,300 คน
ขณะที่ผู้โดยสาร 1 พฤษภาคม มี 9,767 คน 60,476 คน และ 112,200 ตามลำดับ
ความกังวลใจเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านโลกโซเชี่ยล มีการแชร์ภาพคนรอขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเบียดเสียดตามสถานีใหญ่ๆ ไม่มีเว้นระยะห่าง ตามด้วยภาพภายในรถไฟฟ้าที่แน่นขรัดไปด้วยผู้โดยสาร
แม้รถไฟฟ้าจะทำเครื่องหมายจุดที่ยืนได้ หรือเก้าอี้นั่งที่ทำกากบาทไว้ แต่ถึงเวลาจริงก็ไม่มีใครทำตาม เหตุเพราะจำนวนคนใช้บริการมีมาก และผู้ให้บริการปล่อยให้คนเยียดแย่งเข้าไปไม่ต่างจากช่วงปกติ
สะท้อนให้เห็นความแตกต่างและเคร่งครัดต่อการจัดระเบียบให้บริการผู้โดยสารกับบริการอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถเมล์ รถโดยสารทั่วไปที่เว้นระยะห่างไว้
หากดื้อดึงดันทุรังต่อไป มีหวังโดนแรงวิพากษ์ ตำหนิ กระหึ่มโลกโซเชียลแน่ ที่สำคัญคือเรื่อง 2 มาตรฐานและอภิสิทธิ์เหนือรายอื่น
หลายคนอาจยังไม่ทราบ รถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542 รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ให้บริการมาตั้งแต่ 2547 ก็ให้บริการขบวนละ 4 ตู้ตั้งแต่ต้น ขณะที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีไม่มากอย่างทุกวันนี้ คนใช้บริการไม่มาก นักท่องเที่ยวต่างชาติสมัยนั้น ต่างใช้บริการแท็กซี่ ไม่นิยมใช้บริการรถไฟฟ้าเหมือนในช่วงหลังๆ
ผ่านไป 20 ปี ขบวนรถไฟฟ้าก็ยังมี 4 ตู้เช่นเดิม จนแทบไม่ทีที่ยืน แต่ก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือบริหารจัดการใหม่ ทั้งที่อาจเพิ่มตู้ในช่วงเร่งด่วน และลดตู้ในช่วงที่คนใช้น้อย
ล่าสุดมีข่าวดีเบื้องต้นสอดแทรกเข้ามา เมื่อปลัดกระทรวงคมนาคม ออกแนวทางปฏิบัติให้รถไฟฟ้า จำกัดจำนวนผู้โดยสารแต่ละขบวนไม่เกิน 250 คน และให้เพิ่มความถี่ของขบวนรถเพิ่มขึ้น ศึ่งจะช่วยลดโอกาสแพร่ระบาดระลอก 2 ของโควิด 19 ได้ และยังเป็นช่องทางลดข้อครหาหรือลดการโดน "จัดหนัก" ละเลยการปฏิบัติตามระบบสาธารณสุขที่ต้องควบคู่ไปกับการผ่อนคลายมาตรการ
แต่จะได้ผลแค่ไหนในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องช่วยกันติดตามดู รวมทั้ง "ค่าชดเชย" สนับสนุน เพราะในทีโออาร์ ฝ่ายผู้ได้สัมปทานกุมความได้เปรียบอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
ขออย่าให้มี "ค่าโง่รถไฟฟ้า" เกิดขึ้นเลยนะครับ