กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจความสุขของครอบครัวไทย พบความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง เร่งพัฒนา “วัคซีนครอบครัว” ให้ อสม. ผู้นำชุมชน ร่วมสร้างครอบครัวไทยจิตใจเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดต่อเนื่องยาวนาน การปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ซึ่งเว้นระยะห่างกันมากขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวบางอย่างลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อความสุขและความเครียดของครอบครัวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวกลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่ได้รับผลกระทบเร็วกว่ากลุ่มอื่น ทั้งจากปัญหาการว่างงาน ภาระหนี้สิน ภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว รวมถึงข้อจำกัดในการปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ ปัญหาความเครียดในครอบครัวทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็ก สตรี คนชรา ซึ่งพบมีรายงานความรุนแรงในครอบครัวในช่วงกักตัวอยู่ในบ้านสูงขึ้นในหลายประเทศ
นพ.จุมภฏ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต เล็งเห็นถึงความสำคัญของความสุขในครอบครัวมาโดยตลอด เพราะครอบครัวนั้นเป็นพลังเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในการทำให้ชุมชนและสังคม อยู่ดี มีสุข ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมสุขภาพจิตจึงได้ทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยผ่านทางออนไลน์ และสำรวจอีกครั้งในกลุ่มเปราะบางทางสังคม จากการลงสำรวจในพื้นที่ระหว่างช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา จากผลสำรวจออนไลน์พบว่า ความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ปานกลาง มีสัดส่วนความเครียดของครอบครัวระดับปานกลางร้อยละ 54.13 และมีความเครียดของครอบครัวระดับสูงถึงสูงมากร้อยละ 17.53 และจากการสำรวจความสุขของครอบครัวกลุ่มเปราะบางเมื่อลงพื้นที่สำรวจ พบสัดส่วนครอบครัวที่มีความสุขน้อยหรือน้อยมากร้อยละ 17.2 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ทำการสำรวจออนไลน์ในครั้งแรก จึงเร่งพัฒนา “วัคซีนครอบครัว” ประกอบด้วย พลังบวก ครอบครัวมองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหาแม้ในยามวิกฤต พลังยืดหยุ่น ครอบครัวที่ปรับตัวได้ ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย หรือบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และ พลังร่วมมือ ครอบครัวที่ปรองดอง เป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค “โปรแกรมวัคซีนครอบครัว” เป็นชุดกิจกรรมที่ “สนุก ง่าย ทำได้ทุกคน” ทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการสร้างสุข ลดทุกข์ เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว ช่วยให้สามารถฟื้นตัวกลับมาเผชิญปัญหาต่ออย่างเข้มแข็ง และเป็นรากฐานของชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า “วัคซีนครอบครัว” เป็นกิจกรรมที่ผู้นำหรือสมาชิกในครอบครัวชวนทำกิจกรรมกันเองในครอบครัว หรือ อสม. อพม. และผู้นำชุมชน พาทำกิจกรรมกลุ่มครั้งละ 10-15 ครอบครัวในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง เพื่อเร่งเสริมพลังบวก พลังยืดหยุ่น พลังร่วมมือ ประกอบด้วยกิจกรรมต้นแบบ 3 กิจกรรม ได้แก่ “กล่องพลังใจ” ช่วยเสริมพลังบวก ช่วยให้คนในครอบครัวมองเห็นว่าทุกคนต่างมีข้อดี ถ้าได้ขอบคุณกันและชื่นชมในข้อดีของกัน คนพูดก็สุขใจ คนฟังก็มีกำลังใจ อยากร่วมมือเป็นทีมเดียวกันในการสู้ปัญหา “เกมพลังใจ” ช่วยเสริมพลังยืดหยุ่น ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวฝึกปรับตัว ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น รับฟังและช่วยเหลือกันในการแก้ปัญหา “ต้นไม้พลังใจ” ช่วยเสริมพลังร่วมมือผ่านการสังเกต รับฟัง และไว้ใจกัน ช่วยให้คนในครอบครัวปรองดอง เป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ใช้ความเก่งของทุกคนในบ้านมาช่วยกันฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค แม้จะปิดตาจนมองไม่เห็น ก็ยังสามารถปลูกต้นไม้ด้วยกันได้ สิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดจะถูกนำกลับไปทำต่อที่บ้านผ่านบันทึกวัคซีนครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวฝึกสร้างวัคซีนอย่างต่อเนื่อง จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันทางใจอย่างถาวร โดยประชาชนสามารถติดตามผลการดำเนินกิจกรรมวัคซีนครอบครัวในรูปแบบเรียลลิตี้ในรายการ “บ้านพลังใจ ตอน บ้านเล็กจอมพลัง” กับครอบครัวกลุ่มเปราะบาง 30 ครอบครัวจาก 3 ตำบล ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจากผลการดำเนินงานพบว่า สัดส่วนครอบครัวที่มีความเครียดสูงมากมีแนวโน้มลดลง ครอบครัวมีความสุขมากขึ้นจากการเสริมสร้างพลังบวกให้กัน สมาชิกในครอบครัวได้ “ขอบคุณกัน” “ชื่นชมกัน” “รู้สึกใกล้ชิดกัน” และ “ร่วมมือกัน” มากขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างวัคซีนใจในครอบครัวให้ครอบครัวแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป ทั้งนี้ ครอบครัวหรือชุมชนอาจพัฒนากิจกรรมอื่นๆเพื่อเสริมสร้างทั้ง 3 พลังได้จากวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และเชิญชวนให้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนผลการนำวัคซีนครอบครัวไปใช้ และร่วมสนุกกับกิจกรรมในเฟซบุ๊คเพจ บ้านพลังใจ https://www.facebook.com/Baanpalangjai/