24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อคณะราษฎร์ก่อการยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือระบบกษัตริย์ ไปเป็นระบอบการบริหารประเทศโดยคณะบุคคล ที่เรียกกันสวยหรูว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยข้ออ้างให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
มีการเลือกตั้งผู้แทนฯหรือ ส.ส. มีคณะวุฒิสภา หรือ ส.ส.ประเภทที่ 2 อันเป็นสัญญลักษณ์ของประชาธิปไตยตามแบบอย่างในยุโรปขณะนั้น โดยผู้ก่อการที่เป็นพลเรือนส่วนหนึ่ง เป็นกลุ่มนักเรียนนอก ที่ในเวลาต่อมามีบางคนเรียกว่า เป็นพวกร้อนวิชาจากยุโรป
เช่นเดียวกับการเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นจนไพเราะระรื่นหูในเวลาต่อมาว่า เป็นการอภิวัฒน์ประเทศไทย
88 ปีที่หมุนผ่านไป สิ่งที่ปรากฎให้เห็นในระบอบประชาธิปไตยประเทศไทย คือการแย่งชิงอำนาจ โค่นล้มฝ่ายตรงข้าม หรือคนในฝ่ายเดียวกันแต่ส่อเค้าจะแย่งความเป็นใหญ่ การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เต็มไปด้วยการทุจริต ใช้กลโกงหลากหลายรูปแบบ ไพ่ไฟ (ใช้บัตรผีบัตรปลอม) เวียนเทียน ไฟดับ ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ปิดหมู่บ้าน จ้างคนร้องเรียน กล่าวหาคนอื่น รวมไปกระทั่งใช้กลไกภาครัฐ หรืออิทธิพลของคนในพื้นที่ เพื่อให้ผลเลือกตั้งเป็นไปอย่างที่คาดหวัง ไม่เปลี่ยนแปลง
ยังไม่นับการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ฝ่ายตน วาดภาพเลวร้ายให้ผู้อื่น การเลือกเฟ้น ส.ว. ก็เป็นแบบวงศาคณาญาติ ช่วงหลังๆกำหนดให้มีองค์กรอิสระ แต่กระบวนการได้มาซึ่งกรรมการยังเป็นแบบสมัครพรรคพวก มีข้อแลกเปลี่ยนและผลประโยชน์แบบวินวิน
88 ปีผ่านไป ยังมีการปฏิวัติรัฐประหารโดยคนในกองทัพเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สลับกับการเลือกตั้ง ได้ผู้นำรัฐบาลพลเรือน ฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ก่อนถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น แสวงหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ วนเวียนไปมาเป็นวัฏจักรอุบาทว์
นำไปสู่คำถามค้างคาใจของผู้คนทั่วไปว่า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่ผู้บริหารชุดต่างๆมักนำมาใช้อ้างเสมอๆนั้น มันเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็น และไกลเกินกว่าจะเอื้อมถึงเพื่อส่งมอบให้กับประชาชนจริงๆ เช่นนั้นหรือ
คงจำกันได้ พระราชดำรัสของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระราชทานไว้ในวันทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ความว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” สะท้อนความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์อย่างเด่นชัด
แต่กระทั่งถึงวันนี้ ประชาธิปไตยบ้านเราก็ยังคงเป็นแบบไทยๆ ชนชั้นปกครองและผู้บริหารยังคงได้รับอานิสงส์หลักจากการบริหารและผลักดันนโยบายต่างๆ โดยมีบริวารรอบข้าง หรือกลุ่มที่ใกล้ชิด รวมทั้งนักธุรกิจนักลงทุนที่เป็นกลุ่มเครือข่าย ได้่รับประโยชน์ในลำดับถัดๆไป ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดของประเทศ ยังอยู่ในสภาพลำบาก แร้นค้น หนี้สินท่วมตัว ทั้งที่ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลและผลิตผลการเกษตร ขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศที่มีการลงทุนทำกิจการต่างๆมากมายและตลอดเวลา คนกลุ่มนี้น่าจะมั่งคั่ง ร่ำรวย หรืออย่างแย่ที่สุด น่าจะพอมีพอกิน ไม่ลำบากอย่างที่เป็นอยู่
ผ่านไป 88 ปี รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศชาติ ต่างฝันใฝ่และสร้างดาวของตนเองเป็นสำคัญ คิดจะทำโครงการนั้น ผลักดันโครงการนี้ จนแทบจะเต็มท้องฟ้าไปหมดแล้ว แถมวันดีคืนดี ยังจะทุบทำลายดาวที่คนอื่นสร้างไว้ แต่จนรอดจนรอด ก็ยังไม่มีดาวดวงไหนพอจะเป็นที่พึ่ง หรือสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแบบยั่งยืนได้เลย
น่าเบื่อไหมล่ะครับ?