เจ้าหน้าที่กู้ภัยเลบานอนเก็บกู้ศพและยังคงค้นหาผู้สูญหายใต้ซากปรักหักพังของอาคารต่าง ๆ เมื่อวันพุธ ขณะที่ การสอบสวนมุ่งไปที่การประมาทเลินเล่อ สำหรับการเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โกดังเก็บสารแอมโมเนียม ไนเตรท ที่ท่าเรือกรุงเบรุต เมืองหลวงเลบานอนในช่วงเย็นวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งส่งคลื่นช็อคทำลายล้างไปทั่วกรุงเบรุต ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 135 คน และบาดเจ็บมากกว่า 5,000 คน และยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 300,000 คน หลังจากอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแรงระเบิดทำให้เฟอร์นิเจอร์กระเด็นจากบ้านออกไปอยู่กลางถนนและกระจกหน้าต่างปลิวว่อนไปไกลหลายกิโลเมตร
นายฮาหมัด ฮัสซัน รัฐมนตรีสาธารณสุขเลบานอน กล่าวว่า ยังมีประชาชนอีกหลายสิบคนสูญหาย เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาหลังแรงระเบิดซัดเหยื่อบางคนกระเด็นตกลงไปในทะเลก็มี ขณะที่ นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดีอับ ประกาศไว้อาลัย 3 วันนับจากวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่วนญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยมารวมตัวกันอยู่ที่ท่าเรือ เพื่อหาข้อมูลคนที่ยังสูญหาย หลายคนที่เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ท่าเรือและศุลกากร รวมทั้งประชาชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่หรือคนที่ขับรถผ่านใกล้ที่เกิดเหตุในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเย็นวันอังคาร
เหตุระเบิดครั้งนี้รุนแรงที่สุดทำลายล้างกรุงเบรุตทั้งเมือง ซึ่งยังบอบช้ำจากสงครามกลางเมืองที่ยุติลงเมื่อ 30 ปีก่อน และซวนเซจากวิกฤตทางเศรษฐกิจเลวร้ายและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เหตุระเบิดครั้งนี้สร้างความเสียหายไปไกลถึงไซปรัส ประเทศเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่อยู่ห่างกันประมาณ 160 กิโลเมตร
กาชาดเลบานอนทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งสถานที่เก็บศพขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลก็เต็มล้นไปด้วยผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่า โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังรับมือกับคลื่นผู้บาดเจ็บ ซึ่งบางคนบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากไม่มีเตียงและอุปกรณ์ช่วยชีวิตพอรองรับแล้ว
พยาบาลคนหนึ่ง กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์บางแห่งในกรุงเบรุต ไม่ต่างจาก “โรงฆ่าสัตว์” แล้ว เลือดของผู้บาดเจ็บไหลเกรอะกรังไปตามพื้นและในลิฟต์
ประธานาธิบดีมิเชล อูน ของเลบานอน แถลงว่า สารแอมโมเนียม ไนเตรท 2,750 ตัน ซึ่งถูกใช้ในการผลิตปุ๋ยและระเบิด ถูกเก็บไว้ในโกดังแห่งหนึ่งที่ท่าเรือโดยที่ไม่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยมานาน 6 ปีแล้ว หลังจากสารอันตรายเหล่านี้ ถูกยึดได้จากเรือติดธงมอลโดวาเมื่อปี 2556 นายอูน ซึ่งในการแถลงต่อประชาชนในชาติระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน ระบุว่า ไม่สามารถเอ่ยคำอธิบายถึงความตื่นตระหนกและน่ากลัวกับเหตุระเบิดถล่มกรุงเบรุต ซึ่งเปลี่ยนเมืองเป็นเขตภัยพิบัติเหลือแต่ซาก
เขากล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังทำการสอบสวนและจะเปิดเผยความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำตัวผู้รับผิดชอบและคนที่ประมาทเลินเล่อมาลงโทษ และคณะรัฐมนตรีก็ได้สั่งกักบริเวณเจ้าหน้าที่ท่าเรือที่เกี่ยวข้องกับการเก็บหรือดูแลรักษาวัตถุอันตรายนี้ตั้งแต่ปี 2557 และคณะรัฐมนตรียังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเบรุต นาน 2 สัปดาห์ด้วย
ส่วนแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเบื้องต้น ตำหนิเหตุระเบิดครั้งนี้ว่าเกิดจาก “การเพิกเฉยและความประมาท” โดยบอกว่า เจ้าหน้าที่ “ไม่ได้ทำอะไรเลย” ตามที่คณะกรรมการและผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้สั่งให้เคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายนี้ออกไป ขณะเดียวกัน ชาวเลบานอนทั่วไป ซึ่งต้องสูญเสียงานและเงินที่เก็บออมไว้ก็เหือดแห้งไปแล้วจากวิกฤตการเงินในประเทศ ต่างประณามนักการเมือง ทุจริตคอร์รัปชั่นมานานหลายสิบปีและบริหารประเทศโดยขาดความโปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาล
ด้านมาร์วัน อับบูด ผู้ว่าการกรุงเบรุต กล่าวกับอัลฮาดัธ ทีวีว่า ความเสียหายทั้งหมดหลังเหตุระเบิดอาจสูงถึง 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 310,200- 465,300 ล้านบาท ซึ่งการประเมินครั้งนี้ รวมทั้งความสูญเสียทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
สำหรับเหตุระเบิดครั้งนี้ กระตุ้นให้ศาลอาญาพิเศษในเลบานอนประกาศเลื่อนการพิจารณาคดีวางระเบิดลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก อัล-ฮารีรี ของเลบานอน ในปี 2548 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ ไปเป็นวันที่ 18 สิงหาคม โดยศาลแห่งนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตรียมพิพากษา 4 ผู้ต้องสงสัยจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ มุสลิมชีอะห์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในข้อหาลอบสังหารนายฮารีรีและคนอื่น ๆ อีก 21 คนจากการระเบิดรถบรรทุกในอีกพื้นที่หนึ่งของชายฝั่งทะเลในกรุงเบรุต ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือประมาณ 2 กิโลเมตร
ส่วนธารน้ำใจจากนานาชาติ ก็หลั่งไหลเข้าสู่เลบานอนต่อเนื่อง หลายประเทศในอ่าวอาหรับ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักทางการเงินให้เลบานอน แต่ถอยห่างออกมาเมื่อไม่นานมานี้ เพราะสิ่งที่พวกเขาบอกว่า อิหร่านเข้ามาแทรกแซง ได้ส่งเครื่องบินพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ไปยังเลบานอนแล้ว โดยตุรกี แถลงว่า จะส่งแพทย์ 20 คน ไปยังกรุงเบรุต เพื่อช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ และความช่วยเหลือทางการแพทย์และบรรเทาทุกข์ ขณะที่อิรักให้คำมั่นช่วยเหลือด้านเชื้อเพลิง และอิหร่านเสนอให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและโรงพยาบาลสนาม
ด้านสหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และหลายชาติตะวันตก ซึ่งเคยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในเลบานอน ก็เสนอให้ความช่วยเหลือด้วย สำหรับเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์และไซปรัส เสนอส่งทีมค้นหาและกู้ภัยชุดเชี่ยวชาญพิเศษไปช่วย โดยขณะนี้ เครื่องบินฝรั่งเศส 2 ลำ คาดว่าจะเดินทางถึงเลบานอนในวันพฤหัสบดีนี้ พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ภัย 55 คน, อุปกรณ์ททางการแพทย์และคลินิกเคลื่อนที่ด้วย ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส จะเดินทางไปเยือนเลบานอนในวันพฤหัสบดีด้วย