อาการและวิธีรักษาโรคติดเชื้อ HIV
HIV มีระยะการติดเชื้อ ดังนี้ ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV ระยะนี้นับตั้งแต่ร่างกายได้รับเชื้อ HIV จนถึงช่วงที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIV ขึ้นมา ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มาก และยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาอาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ ซึ่งอาจเป็นช่วงตั้งแต่ 2 -12 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง และเนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้นผู้ติดเชื้อบางรายจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะนี้
ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อ HIV และสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (Carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อ HIV จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆและทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมากๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ HIV และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ติดเชื้อเอง ระยะนี้คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี แต่มีกลุ่มผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่ระยะนี้อาจสั้นเพียง 2-3 ปี ซึ่งเรียกว่า กลุ่มที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) ในขณะที่ประมาณร้อยละ 5 จะมีการดำเนินโรคช้า โดยบางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป เรียกว่า กลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller)
ระยะติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรค ดังนี้
อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย โรคเชื้อราที่เล็บ แผลร้อนในในช่องปาก ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก ฝ้าขาวข้างลิ้นซึ่งขูดไม่ออก โรคสะเก็ดเงินที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ
อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้ เริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อยและเป็นแผลเรื้อรัง งูสวัด โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน มีไข้เป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 บริเวณ (เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย
ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว วัณโรค ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้าเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยากและอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่หรือหลายชนิดร่วมกัน ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้ มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้งและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบากหรือเจ็บเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดหรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ตกขาวบ่อยในผู้หญิง มีผื่นคันตามผิวหนัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกจากเดิมเนื่องจากความผิดปกติของสมอง ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่นได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดว่า ติดเชื้อ HIV หรือไม่ จึงควรทำการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ HIV
การรักษา ปัจจุบันไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่จะกำจัดเชื้อ HIV ให้หมดไปได้ มีเพียงยาที่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อ HIV และยาที่ช่วยรักษาอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสหรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ให้ยาต้านไวรัส (ARV; anti-retroviral therapy) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและลดจำนวนของเชื้อ HIV ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ชะลอการเกิดอาการป่วยเป็นเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว โดยต้องกินยาตลอดชีวิตแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรคก็ตาม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสภายใต้การตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดโดยไม่คำนึงถึงปริมาณของ CD4 ในช่วงการเริ่มยาและมีการปรับเปลี่ยนยาตามการตอบสนองของการรักษา เช่น ระดับ CD4, viral load หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้ป่วย เช่น มีโรคประจำตัวมากขึ้นตามวัย ทำให้อาจมีผลกระทบกับการรักษาหรือการทำปฏิกิริยาต่อกันของยาที่ทานเพื่อรักษาโรคอื่น เป็นต้น
นอกจากการใช้ยาควบคุมอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อหลังได้รับเชื้อและไม่ให้พัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์แล้ว วิธีการสำคัญในการรักษาคือ การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายเพิ่มและป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปยังบุคคลอื่น
2. ให้การรักษาโรคฉวยโอกาสและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะรักษาปอดอักเสบ ยารักษาเชื้อราในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ให้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเริม เป็นต้น
พว. วิภาวรรณ อรัญมาลา พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล
อาจารย์ พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์แพทย์ ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล