อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยคนไทยเครียดจากโควิด-19 พุ่งระดับ 4 แนะสร้างวัคซีนใจให้ตนเอง
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ท พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ความเครียดของคนไทยต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ว่า สุขภาพจิตคนไทยเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นการระบาดรอบแรก คนไทยมีความเครียดมากกว่าปกติสูงสุดในรอบปี อยู่ในระดับ 4 กว่าๆ จากนั้นค่อยๆ ลดลงมาตามสถานการณ์ของโรค จนเมื่อสิ้นปีระดับความเครียดก็ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน่าพอใจ แต่เมื่อเข้าปี 2564 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่ภาวะเครียดของประชาชนก็กลับขึ้นมาจากระดับ 1 เป็น 2 และกลับมาถึงระดับ 4 อีกครั้ง นอกจากนี้ในปี 2564 ยังรายงานเรื่องความตื่นตระหนกของคนไทย โดยช่วงต้นเดือน ธ.ค. พบความตื่นตระหนกสูงใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย ช่วงปลายเดือน ธ.ค. พบการตื่นตระหนกสูงขึ้นใน จ.สมุทรสาคร โดยกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อ จึงกังวลการออกนอกบ้าน และการเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งนี้ อยากให้นำความกังวลใจมาเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องสถานการณ์
ทำไมต้องโหลดแอพพลิเคชั่น "หมอชนะ"
คณบดีศิริราชแนะเร่งตั้ง รพ.สนามแยก "คนติดเชื้อ-คนป่วย" ไม่รีบทำระบาดพุ่ง
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนใจให้ตนเอง 1.หากกลัวการติดเชื้อ สิ่งที่ช่วยได้คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัย สู้กับความกลัว ดังนั้น หากวันนี้เราทราบความเสี่ยงด้วยประเมิน เราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงนั้นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ไม่เข้าพื้นที่แออัด เปลี่ยนความกลัวมาให้รู้สึกปลอดภัย 2.ความตระหนก เป็นผลจากการรับข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้น วัคซีนใจคือความสงบ ระมัดระวังการรับข้อมูลให้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่ส่งต่อข้อมูลที่สร้างความกังวลใจ เฝ้าระวังจิตใจให้ผ่อนคลาย 3.ความอ่อนล้า เมื่อเราเผชิญสถานการณ์มาเต็มที่ตั้งแต่ระลอกที่ 1 เราเริ่มอ่อนล้าลง วัคซีนใจของเราคือความหวัง จากการสำรวจพบว่าการพูดคุย สื่อสารทางบวก ไม่ส่งต่อข้อความทางลบหรือไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะจะยิ่งลดทอนความพยายามของเราลงไปมากขึ้น นอกจากนี้ยังฉีดวัคซีนใจให้ผู้อื่นได้ ด้วยการดูแลกันและกันในครอบครัว ส่งต่อไปในองค์กร ชุมชน เพื่อให้ก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใคร วัคซีนใจฉีดได้เลยไม่ต้องรอ