กทม.วอน"ผู้ป่วยโควิด"ไม่ปกปิดข้อมูลเพื่อคนส่วนรวม

2021-01-08 15:50:06

กทม.วอน"ผู้ป่วยโควิด"ไม่ปกปิดข้อมูลเพื่อคนส่วนรวม

Advertisement

"โฆษก กทม." วอน "ผู้ติดเชื้อโควิด" ไม่ปกปิดข้อมูล ช่วยป้องกันหมอ-พยาบาล และคนส่วนรวม


เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า อยากให้พวกเราทุกคนเห็นใจผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูล Timeline เป็นอย่างดี ถึงแม้อาจจะทำให้ดูเหมือนว่าเขาเดินทางไปหลายสถานที่มาก แต่อยากให้เราทุกคนเข้าใจว่าก่อนหน้าที่เขาจะติดเชื้อ เขาไม่รู้เลยว่าการเดินทางในแต่ละวันอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว จึงอยากให้พวกเราทุกคนขอบคุณเขาที่ยอมให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนอื่นทราบถึงความเสี่ยง และให้พวกเราทุกคนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ตนไม่ได้หมายความว่าการเดินทางไปในที่ผิดกฎหมาย หรือสถานที่เสี่ยงเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่กล้าบอกความจริงถือว่าเป็นการแสดงความจริงใจให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นส่วนสำคัญของการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี ที่อธิบายมาทั้งหมดก็เพื่ออยากให้ทุกคนสร้างค่านิยมว่า การบอกประวัติที่แท้จริงคือสิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอีกหลายคน และเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาจากการปกปิดข้อมูล โดยเฉพาะเวลาไปพบหมอแล้วไม่ยอมบอกความจริง จะทำให้มีผลกระทบต่อการรักษา

ปลัด สธ.ห่วงอากาศเย็นเจ็บป่วยแยกอาการจากโควิด 19 ยาก

สธ.จ่อชง ครม.เยียวยาร้านนวด สปา

"หมอชายแดน"เชื่อ"คนไทย"ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19


ร.ต.อ.พงศกร ระบุอีกว่า ถ้าเราบอกความจริง หมอจะแยกการตรวจโควิดในห้องตรวจหาเชื้อเฉพาะที่มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ในการป้องกันโรค ทำให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเสี่ยงติดโรค นอกจากนั้นยังทำให้คนอื่นๆ ที่มารับบริการโรงพยาบาลในช่วงเวลาเดียวกันปลอดภัย ไม่ติดเชื้อโรคด้วยเช่นกัน เช่น กรณีผู้ป่วยจากสถานบันเทิงใน กทม.มาทำการรักษาโรคอื่นๆ ที่โรงพยาบาลโดยปกปิดข้อมูลสถานเสี่ยงที่ได้ไปมา หมอไม่อาจรู้ได้เลยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด สุดท้ายก็จะมีบุคคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่อีกหลายคนก็จะต้องกักตัวเองเพื่อเฝ้าระวังไปด้วย การปกปิดข้อมูลนอกจากจะทำให้คนอื่นมีความเสี่ยงแล้ว ยังทำให้เราเสียบุคลากรทางแพทย์กับการกักตัว แทนที่พวกเขาจะสามารถทำหน้าที่รักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเต็มที่ การให้ความร่วมมือบอกข้อมูล Timeline ที่เป็นจริง จะช่วยให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อีกทางหนึ่ง ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเร่งสอบสวนผู้ที่มีความเสี่ยง และสามารถทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งหมดได้รวดเร็ว ทำให้ควบคุมโรคได้ทันที และยังช่วยคนอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อโรคเพิ่มขึ้นอีกหลายคน