สธ. เผย 20 จังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกิน 7 วัน ห่วงพบการติดเชื้อในสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้น แนะภาครัฐและเอกชน คัดกรองพนักงาน แยกผู้มีอาการป่วย ลดกิจกรรมเสี่ยงแพร่เชื้อ ส่งเสริมการทำงานที่บ้าน
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย
"หมอแม่สอด"เผยผู้ป่วยโควิดรายใหม่จาก Sky complex 14 คน
"หมอมนูญ"กังขาห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่ปิดเสี่ยงแพร่โควิดเปิดได้ตามปกติ
นพ.โอภาสกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้น 205 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 131 ราย การค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว 58 ราย และมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันโรค 16 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ติดเชื้อสะสม 9,841 ราย รักษาหายแล้ว 5,255 ราย สถานการณ์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเริ่มลดลง แต่ยังประมาทไม่ได้ มาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังมีความสำคัญ ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง กระทรวงสาธารณสุขจะค้นหาเชิงรุกและจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,604 ราย โดย จ.สมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 2,981 ราย ภาคตะวันออก 1,597 กทม. 519 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีผู้เสียชีวิต 7 ราย แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่าการระบาดครั้งแรก แต่จะต้องลดผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด โดยขณะนี้นอนรักษาในโรงพยาบาล 2,599 ราย มีอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย อยู่โรงพยาบาลสนาม 1,703 ราย และอยู่โรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยอาการน้อย (Hospitel) 81 ราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามและ Hospitel เป็นการแยกผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการออกมา เพื่อสังเกตอาการไม่ให้ปะปนกับคนในชุมชนช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากๆ เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนผู้รักษาหายแล้วมีจำนวน 1,306 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ เมื่อผ่านไป 8-10 วันจะไม่แพร่เชื้อต่อ มาตรฐานการรักษาของกรมการแพทย์ถือว่าหายแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ในระลอกใหม่ กระจายใน 57 จังหวัด แบ่งสถานการณ์ตามจำนวนผู้ป่วยออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 50 ราย (สีแดง) มี 8 จังหวัด 2.จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม 11-50 ราย (สีส้ม) มี 10 จังหวัด 3.จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม 1-10 ราย (สีเหลือง) มี 19 จังหวัด 4.จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (สีเขียว) มี 20 จังหวัด และ 5.จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน (สีขาว) มี 20 จังหวัด สำหรับการตรวจเชิงรุกแรงงานต่างด้าว ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตรวจมากกว่า 2 หมื่นราย พบการติดเชื้อน้อยมาก แสดงว่าส่วนใหญ่ยังจำกัดวงอยู่ที่ จ.สมุทรสาครและภาคกลางเป็นหลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการระบาดให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ยังมีผู้ป่วยเพิ่มเติม หลายจังหวัดควบคุมได้ดี ในการค้นหาผู้ป่วย การติดตามผู้สัมผัส ประชาชนร่วมมือสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น และลดการเดินทาง ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คาดว่าปลายเดือน ม.ค.น่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก จะยังพบผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีคนไทยที่ทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการติดเชื้อจึงเดินทางกลับเข้ามาโดยช่วงแรกเป็นการลักลอบเดินทางเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติและมารายงานตัว ขณะนี้ได้แจ้งให้กลับเข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพื่อกักกัน 14 วัน โดยฝ่ายความมั่นคง สาธารณสุข และประชาชนยังต้องร่วมมือเพื่อช่วยกันควบคุมสถานการณ์พื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคหลายกรณี ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะนี้ เนื่องจากพบการติดเชื้อในพนักงานสถานประกอบการหรือกิจการบางประเภท เช่น กรณีโรงงานเขตบางขุนเทียน กทม. ที่มีแรงงานเมียนมาไปงานแต่งงาน จ.สมุทรสาคร แล้วนำมาติดเพื่อนร่วมงานทั้งแรงงานต่างด้าวและคนไทยในที่ทำงาน หรือกรณีสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า กทม. ขณะนี้มีการติดเชื้อรวม 121 ราย ลูกค้าที่ติดเชื้อก็นำไปแพร่เชื้อต่อในสถานที่ทำงานและคนในครอบครัว และกรณีพนักงานธนาคารใน กทม. อายุ 24 ปี ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยกรณีตลาด จ.สมุทรสาคร โดยมีการสังสรรค์ทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ เดังนั้นขอให้สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตรวจคัดกรองพนักงานและสังเกตอาการเจ็บป่วย หากพบผู้ป่วยให้แยกออกจากผู้ที่ไม่ป่วย และต้องคงมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากไม่มีการสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมที่เกิดโอกาสการติดเชื้อ และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีสนามชนไก่ จ.อ่างทอง มีผู้ติดเชื้อสะสม 101 ราย พบผู้ติดเชื้อใน 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง 70 ราย พระนครศรีอยุธยา 13 ราย สิงห์บุรี 6 ราย ลพบุรี 5 ราย สุพรรณบุรี 3 ราย ขอนแก่น 2 ราย สระบุรี 1 ราย และนนทบุรี 1 ราย ดังนั้น ผู้ที่มีกิจกรรมในช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อถึงมกราคม โดยไปสนามชนไก่ในพื้นที่ภาคกลางไม่ว่าจะเป็นแห่งใดก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะผู้ไปสนามชนไก่มักมีพฤติกรรมไปหลายแห่งเช่นเดียวกับสถานบันเทิง เหมือนผู้ติดเชื้อล่าสุดที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นชายอายุ 27 ปี มีประวัติไปสนามชนไก่ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และลพบุรี จึงเข้ารับการตรวจคัดกรอง
ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จึงพบเชื้อและนำเข้าสู่การรักษา ทำให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้ไป
ที่ จ.อ่างทอง แต่หากไปสนามชนไก่แห่งอื่น ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ จึงขอให้งดกิจกรรมที่เสี่ยงและเฝ้าระวังสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน นับจากวันสุดท้ายที่ได้ไปสนามชนไก่