สธ.แจงข้อมูลวิจัยวัคซีนโควิดของจีนในบราซิล

2021-01-13 22:20:56

สธ.แจงข้อมูลวิจัยวัคซีนโควิดของจีนในบราซิล

Advertisement

สธ.แจงข้อมูลการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของจีนในบราซิล ระบุข้อดีของวัคซีนเชื้อตายฉีดเข้าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีประสิทธิภาพวัคซีนโควิด- 19 ที่นำเข้า และความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด- 19 ในประเทศไทย

สธ.แจงเด็ก 3 เดือนติดโควิดจากเพื่อนพ่อมากินหมูกระทะที่บ้าน

วาร์ปแรงแซงทุกสำนัก คนรู้ใจ "ดร.บุ๋ม" โปรไฟล์แน่นพอๆ กับมัดกล้าม !!

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลการทดสอบวัคซีนบริษัทซิโนแวค ที่ทดลองฉีดในประเทศบราซิล ทั้งนี้ จากข้อมูลในการแถลงของสถาบันบูตันตัน เป็นการเสนอข้อมูลประสิทธิภาพในภาพรวม ของการทดลองในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง และเป็นอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนปกติ ทำให้ได้ผลในด้านการป้องกันการติดเชื้อเพียงร้อยละ 50.4 อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องการป่วย โดยกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการป่วยได้ 78 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันอาการรุนแรงถึง 100 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้น ซึ่งไม่ว่าบริษัทใดก็ตามที่มีผลการทดลองเฟส 3 เป็นผลการทดลองในระยะต้นทั้งสิ้น การทดลองในเฟส 3 จะสมบูรณ์แบบได้ ต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่ง จึงจะได้ข้อสรุปถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการใช้วัคซีน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน


นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ข้อดีของวัคซีนจากประเทศจีน คือเป็นการใช้เชื้อตายฉีดเข้าร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ถือเป็นรูปแบบดั้งเดิม เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ โปลิโอ และมีข้อมูลว่า ประเทศจีนนำไปฉีดให้กลุ่มทหาร และบุคลากรทางการแพทย์หลายแสนคน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ทั้งนี้ การพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ ต้องดูคุณสมบัติหลายด้าน เช่น คุณภาพ ประสิทธิภาพ ราคา จำนวนปริมาณ ระยะเวลาในการจัดส่ง รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุข จะจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และต้องไม่พบอาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่ง WHO ได้ประกาศว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์  ขึ้นไปสามารถใช้ได้ ขอประชาชนไม่ตระหนก กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานขอข้อมูลจากชิโนแวคเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19

ด้าน นพ.สุรโชค กล่าวว่า บทบาท อย. มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่อง ยา วัคซีน ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง ใน 3 ด้าน คือ 1.คุณภาพ 2.ความปลอดภัย และ 3.ประสิทธิภาพ โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินคุณสมบัติและประสิทธิภาพ สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีน ขณะนี้ อย. ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ ร่วมกันตรวจสอบและพิจารณาครบถ้วนครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะกรณีวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงให้มีการยื่นเอกสารบางส่วน เพื่อพิจารณาควบคู่กันไป และหากข้อมูลครบถ้วนจึงจะประกาศผลการรับรอง ปัจจุบันมีบริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินข้อมูล คาดว่าจะสามารถอนุมัติขึ้นทะเบียนได้เร็ว ๆ นี้ และบริษัท ไซโนแวค ไบโอเทค มีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียน และส่งมอบเอกสารบางส่วนพิจารณาแล้ว


"สิ่งสำคัญในการขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ต้องมีผู้รับผิดชอบ 2 ส่วน คือ ผู้นำเข้าและผู้ผลิต ผู้นำเข้าต้องมีหลักฐานนำเข้าจากผู้ผลิตโดยตรง เพื่อป้องกันการปลอมวัคซีน และยืนยันว่าผู้นำเข้าติดต่อกับผู้ผลิตโดยตรง รวมทั้งต้องมีการรับผิดชอบหากเกิดปัญหาในการจัดจำหน่าย อย. ยินดีและพร้อม ที่จะให้ผู้ผลิต บริษัทนำเข้ายา หรือโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 โดยสามารถยื่นเอกสารเพื่อประเมินคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้ อย.ได้อำนวยความสะดวก โดยขบวนการจะเร็วขึ้นแต่ไม่ได้ข้ามขั้นตอน ระดมสรรพกำลังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น บนพื้นฐานความปลอดภัย มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล” นพ.สุรโชค กล่าว