"ดีเอสไอ"บุกทลายเครือข่าย"ปล่อยเงินกู้"ออนไลน์

2021-01-14 18:35:31

"ดีเอสไอ"บุกทลายเครือข่าย"ปล่อยเงินกู้"ออนไลน์

Advertisement

"ดีเอสไอ" ทลายเครือข่าย "ปล่อยกู้ออนไลน์" คิดดอกเบี้ยโหด แถมโพสต์ประจานหากผิดชำระ


เมื่อวันที่ 14 ม.ค. จากกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแจ้งผ่านแอพพลิเคชัน "รู้ทัน- Rootan" ว่ามีขบวนการให้กู้ยืมเงินผ่านแอพพลิเคชัน โดยหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และคิดค่าธรรมเนียม เพื่ออำพรางการคิดดอกเบี้ยสูงเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด โดยคำนวณแล้วสูงถึงร้อยละ 750-2,500 ต่อปี) ที่สำคัญ คือ มีการติดตามทวงถามหนี้ที่เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ พร้อมข่มขู่ประจาน จนมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงสั่งการให้ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ศูนย์สืบสวนไซเบอร์ และศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานประกอบการในกรุงเทพมหานคร รวม 2 แห่ง พบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายรายการ ก่อนจับกุมนายปิน หลิว (BIN LUY) อายุ 35 ปี สัญชาติจีน ผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันให้กู้ยืมเงินหรืออำพรางการกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

“ทิพานัน” ย้อน “ปิยบุตร”ปลุกเลิก ม.112 สังคมควรเชื่อถือหรือไม่

แห่ติดแฮชแท็ก#300ล้าน ค้านงบผลิตสื่อสร้างสรรค์

เตือน 17-20 ม.ค.อุณหภูมิลดวูบ ส่อ"หนาว"อีกระลอก


สำหรับการเข้าตรวจเป้าหมายดังกล่าว สืบเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการโฆษณาให้ประชาชนที่ต้องการกู้เงินกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลและอนุญาตให้แอพพลิเคชันกู้ยืมเงินเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านทาง Facebook, LINE โดยผู้กู้จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน เพราะแอพพลิเคชันเงินกู้ดังกล่าวจะหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น กู้ยืม 4,000 บาท ผู้กู้จะได้รับเพียง 2,600 บาท โดยเงิน 4,000 บาทจะต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 14 วัน หากลูกหนี้ไม่ชำระคืน จะมีค่าปรับตามจำนวนอัตราที่แอพพลิเคชันกำหนด เช่น กู้เงิน 4,000 บาท หากส่งคืนล่าช้าจะมีค่าปรับวันละ 400-600 บาท และจะมีการทวงถามไปยังบุคคลใกล้ชิดของผู้กู้ตามที่มีรายชื่อที่ปรากฏในสมุดโทรศัพท์ที่แอพพลิเคชันดังกล่าวได้ข้อมูลไป นอกจากนี้ยังมีการนำรูปภาพไปประจาน และยังข่มขู่คุกคามผู้กู้และคนใกล้ชิด ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง บางรายถึงขั้นถูกไล่ออกจากงาน


อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง มีการสร้างแอพพลิเคชันโดยใช้ชื่อเลียนแบบบริษัทที่มีชื่อเสียง อาทิ True Cash, Cash 2 you เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มกวดขันมากขึ้นก็จะเปลี่ยนชื่อ และกระทำในลักษณะเดียวกันมากกว่า 30 แอพพลิเคชัน เช่น มีเหรียญ, ให้กู้เถอะ, ยืมเงินด่วน, กู้ง่าย, Cash 24 h, Big Money หรือ Cash Loan เป็นต้น จากตรวจสอบเบื้องต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 พบบัญชีผู้เกี่ยวข้อง 15 บัญชี มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 1,500 ล้านบาท และในวันเดียวกัน คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้อายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกว่า 157 บัญชี เพื่อขยายผลให้ถึงเครือข่ายและตัวการใหญ่ต่อไป




พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจค้นจับกุมช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน Universal Precautions (UP) ตามแนวทางที่ได้ร่วมหารือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมขอบคุณอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ให้คำแนะนำและมอบหมายเจ้าหน้าที่มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ ขณะเดียวกันขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าเปิดบัญชีเงินฝากให้กับมิจฉาชีพ เพราะอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้หากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชัน รู้ทัน : Rootan ของศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทันที