"หมอธีระ" เตือน "โควิด" ส่อลากยาวถึงกลางปีหน้า เหตุตรวจน้อยทำเชื้อลุกลามต่อเนื่อง
สลด!จ้างเลี้ยงลูกวัยขวบครึ่ง 3 วัน สมองบวม อาการสาหัส
"เสี่ยหนู"ลั่นพร้อมฉีดวัคซีนโควิดคนแรก
ศบค.แถลงพบผู้ป่วยโควิดพุ่ง 959 ราย
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า 26 มกราคม 2564 วันแห่งความทรงจำ ติดเชื้อเกิน 100 ล้านคนภายในเวลาประมาณ 1 ปี 1 เดือนเท่านั้น เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 474,338 คน รวมแล้วตอนนี้ 100,165,647 คน ตายเพิ่มอีก 9,507 คน ยอดตายรวม 2,146,456 คน อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 135,774 คน รวม 25,812,699 คน ตายเพิ่มอีก 1,664 คน ยอดตายรวม 430,807 คน, อินเดีย ติดเพิ่ม 9,354 คน รวม 10,677,710 คน, บราซิล ติดเพิ่มถึง 5,558 คน รวม 8,850,135 คน, รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,290 คน รวม 3,738,690 คน, สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 22,195 คน รวม 3,669,658 คน อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
พรุ่งนี้อินโดนีเซีย จะทะลุหนึ่งล้านคนเป็นประเทศที่ 19 ของโลก คาดว่าเนเธอร์แลนด์ จะแตะล้านประเทศที่ 20 ในอีกสองสัปดาห์ แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมียนมา เกาหลีใต้ จีน และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และเวียดนาม ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ สถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 383 คน ตายเพิ่มอีก 7 คน ตอนนี้ยอดรวม 137,957 คน ตายไป 3,069 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2 เปอร์เซ็นต์ วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดทั่วโลก จะพบว่าตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ติดเชื้อกันเพิ่มอีก 50 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 3 เดือน (80 วัน) เป็นอัตราการติดเชื้อที่ไวกว่าเดิมเกือบ 4 เท่า ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อค่อนข้างคงที่มาตลอดในช่วง 50-100 ล้านคน โดยเพิ่ม 10 ล้านคนทุกๆ 15-17 วัน คาดว่าเราจะเริ่มเห็นผลของการชะลอการระบาดระดับประเทศได้จากการเข้าถึงวัคซีนในหลายต่อหลายประเทศหลังเดือนมีนาคม แต่จะยังไม่สามารถหยุดการระบาดในระดับโลกได้ ส่วนประเทศที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงได้ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำได้มากหากไม่ป้องกันให้ดี
ทั้งนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์เป็นที่น่าวิตก เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักรที่มีการศึกษาแล้วพบว่าแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 50 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เสียชีวิตได้มากกว่าเดิมถึง 1.65 เท่า แม้จะพบว่าวัคซีนที่คิดค้นมาฉีดป้องกันนั้นจะยังสามารถครอบคลุมสายพันธุ์นี้ได้ดีก็ตาม ประเทศอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ ในขณะที่สายพันธุ์อื่น เช่น แอฟริกาใต้ นั้น ล่าสุดพบว่ามีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น วัคซีนของ Moderna พบว่าแอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนลดลงไปราว 6 เท่า และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพได้ ตอนนี้กำลังวิจัยกันเพิ่มเติมว่าจำเป็นต้องฉีดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นหรือไม่ และได้ยินว่ากำลังจะทำวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ให้สามารถครอบคลุมสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ดีขึ้น คงต้องเอาใจช่วยให้สำเร็จโดยเร็ว
วิเคราะห์สถานการณ์เมืองไทย ดูเงื่อนเวลาและเงื่อนไขที่ประชาชนจะได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ แล้ว คงได้แต่เน้นย้ำให้เราทุกคนป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดในระยะยาว ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าจะยาวไปถึงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย กว่าที่คนส่วนใหญ่จะสามารถได้รับวัคซีนต่างๆ ได้ย่างก้าวของการจัดการการระบาดที่ผ่านมา ยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ หากดูตามธรรมชาติการระบาดซ้ำแล้ว ระลอกสองนี้ยังไม่จบง่ายๆ อย่างที่หลายคนหวังไว้ครับ เคยคาดการณ์ไว้ว่าหากเราจัดการอย่างเข้มข้น จะกดการระบาดได้โดยใช้เวลาไปถึงมีนาคมเป็นอย่างน้อย แต่จากการเลือกใช้มาตรการยืดหยุ่น ทำให้ตัดวงจรการระบาดได้ยาก และจำนวนตรวจคัดกรองนั้นเป็นเพียงระดับหลักหมื่น ซึ่งน้อยกว่าหลายต่อหลายประเทศที่มีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจที่พอๆ กับไทย หลายเท่า ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะมีคนติดเชื้อแฝงในชุมชนอยู่อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อรับเชื้อกันไปอย่างต่อเนื่อง ดูตามเนื้อผ้าแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันจะค่อนข้างลำบากมาก และหากกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามที่ฝันไว้นั้น ภายใต้รูปแบบการดำเนินธุรกิจและบริการต่างๆ ในปัจจุบัน จะทำให้เกิดปัญหาการระบาดหนักตามมา ดังที่เราเห็นในประเทศอื่น ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังให้ดี