ความพยายามของกลุ่มชาติตะวันตก ที่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมา ที่ก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อจีนและรัสเซีย 2 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวร ไม่สนับสนุน
การประชุมวาระฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี (United Nations Security Council : UNSC) ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 ก.พ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งเกิดการรัฐประหาร กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนนำโดยนางออง ซาน ซูจี เมื่อช่วงรุ่งสางของวันที่ 1 ก.พ. โดยที่ประชุมได้มีการหารือ ข้อเสนอให้ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมา แต่สุดท้ายไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวตกไป
ก่อนการลงมติ นางบาร์บารา วูดเวิร์ด เอกอัคราชทูตสหราชอาณาจักรประจำองค์การสหประชาชาติ ในฐานะประธานยูเอ็นเอสซีประจำเดือน ก.พ. ได้เรียกร้องต่อที่ประชุม 15 ประเทศสมาชิก ให้สามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในเมียนมา
มติของยูเอ็นเอสซี ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ จากทั้ง 5 ชาติสมาชิกแบบถาวร โดยไม่มีเสียงคัดค้าน แต่จีนซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวร ปฏิเสธที่จะสนับสนุนการออกแถลงการณ์ โดยอ้างว่าต้องการเวลา ในการพิจารณา ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมาชิกถาวร ไม่สนับสนุนการออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยนายดมิทรี โพลีอันสกี อัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า ได้มีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลที่กรุงมอสโก และได้รับคำตอบว่า สถานการณ์ในเมียนมาซับซ้อนและเปราะบาง เนื้อหาในแถลงการณ์ ต้องใช้เวลาพิจารณามากกว่านี้
แหล่งข่าวนักการทูตในสหประชาชาติ เผยว่าร่างแถลงการณ์มีเนื้อหาประณาม เหตุรัฐประหารในเมียนมา พร้อมกับเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมด รวมถึงนางออง ซาน ซูจี ผู้นำสูงสุดโดยพฤตินัย ของรัฐบาลพลเรือนเมียนมา.