ยาน “เทียนเหวิน-1” ของจีน เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารสำเร็จ (คลิป)

2021-02-11 07:45:46

ยาน “เทียนเหวิน-1” ของจีน เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารสำเร็จ (คลิป)

Advertisement


จีนประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศ “เทียนเหวิน-1 (Tianwen-1) เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารแล้วในวันพุธ หลังเดินทางไกลจากโลกยาวนานเกือบ 7 เดือน นับเป็นครั้งแรกที่จีนสามารถนำยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์แดงได้ ถือเป็นก้าวสำคัญของโครงการด้านอวกาศของจีน ซึ่งรวมถึงการส่งยานสำรวจไปลงบนพื้นผิวดาวอังคาร สำนักงานด้านอวกาศแห่งชาติของจีน หรือซีเอ็นเอสเอ (CNSA) แถลงว่า เครื่องยนต์ 3000เอ็น ถูกจุดระเบิดในเวลา 19.52 น.ตามเวลาในกรุงปักกิ่ง เพื่อลดความเร็วของยาน “เทียนเหวิน-1” จากนั้นอีกประมาณ 15 นาที ยานอาวกาศลำนี้ ซึ่งรวมทั้งยานโคจร, ยานลงจอดและยานสำรวจ ก็โคจรช้าลงมากพอที่จะอยู่ในรัศมีแรงโน้มถ่วงของดาวอังคาร และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์แดงดวงนี้ โดยอยู่ในระยะใกล้ที่สุดจากพื้นผิวประมาณ 400 กิโลเมตร

เทียนเหวิน-1 จะใช้เวลาประมาณ 10 วันบนโลก ในการโคจรรอบดาวอังคารเต็ม 1 รอบ



ซีเอ็นเอสเอ แถลงว่า ยานอวกาศเทียนเหวิน-1 ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารเป็นผลสำเร็จ ถือเป็นดาวเทียมดวงแรกของจีนที่สามารถโคจรรอบดาวอังคารได้ และระหว่างเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนนี้ ยานเทียนเหวิน-1 จะพยายามส่งแคปซูลบรรจุยานสำรวจน้ำหนัก 240 กิโลกรัมลงบนพื้นผิวของดาวอังคาร ในส่วนของที่ราบกว้างใหญ่ทางซีกโลกเหนือที่เรียกว่า ยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยานเทียนเหวิน-1 จะทำ 3 ภารกิจด้วยกัน ดังนี้ ภารกิจเเรกคือการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และลงจอดที่พื้นผิวของดาวอังคาร เมื่อยานเทียนเหวิน-1 ลงจอดบนพื้นผิวบนดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อย ยานเทียนเหวิน-1 จะปล่อยยานสำรวจที่เป็นเหมือนรถโรเวอร์ออกมาเพื่อทำการสำรวจพื้นผิวของดาวอังคารต่อ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการสำรวจถึง 3 เดือนด้วยกัน แต่เป็น 3 เดือนบนดาวอังคารก็เท่ากับประมาณ 92 วันของโลก เมื่อยานสำรวจเดินทางสำรวจ ซึ่งจะสำรวจโครงสร้างทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของดาวอังคาร และเมื่อพบข้อมูลที่ต้องการ ยานสำรวจนี้จะส่งสัญญาณข้อมูลมายังโลกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์

ยานเทียนเหวิน-1 ถูกปล่อยไปพร้อมกับจรวด ลองมาร์ช-5 ซึ่งเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดของจีน จากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินฉาง ชายฝั่งทะเลมณฑลไหหนานทางตอนใต้ของจีน ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ใช้เวลาเดินทางในอวกาศ 202 วัน รวมระยะทางการเดินทาง 475 ล้านกิโลเมตร และขณะนี้ ตัวยานอยู่ในวงโคจรของดาวอังคารห่างจากโลก 192 ล้านกิโลเมตร



หลังการประกาศของซีเอ็นเอสเอ สำนักงานอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ ทวีตข้อความในวันพุธแสดงความยินดีต่อจีน ที่ประสบความสำเร็จในการนำยานเทียนเหวิน-1 เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร

ก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ยานอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารเช่นกัน เพื่อทำการศึกษาชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศของดาวอังคาร และในอีกไม่กี่วัน องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซ่า ก็จะส่งยานอวกาศบรรทุกยานพาหนะสำรวจพื้นผิวและเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กไปลงบนพื้นผิวดาวอังคารเช่นกัน

สำหรับตัวยานเทียนเหวิน-1 และยานสำรวจพื้นผิวที่อยู่ในยานเทียนเหวิน-1 มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 1.3 ตัน เมื่อมันเดินทางเพื่อที่จะลงจอดบนดาวอังคารแล้ว กลไกในการลงจอดของมันคือการปล่อยยานสำรวจลงไปยังพื้นผิวดาวอังคารด้วยร่มชูชีพ ซึ่งยานสำรวจนี้เองมีความสูงประมาณ 1.85 เมตร น้ำหนักประมาณ 240 กิโลกรัม จะลงจอดและเดินทางเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่จะสามารถบ่งบอกได้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

ภายในยานสำรวจลำนี้จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อใช้ในการสำรวจ เช่น กล้องทางธรณีวิทยา กล้องมัลติสเปกตรัมเรดาร์เพื่อใช้ในการตรวจจับใต้ผิวดิน รวมไปถึงอุปกรณ์ที่จะใช้ตรวจจับสภาพอากาศ แต่การเดินทางแต่ละครั้งของยานอวกาศเพื่อที่จะไปลงจอดบนดาวอังคารมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ยานอวกาศทุกลำจะทำได้อย่างราบรื่น เพราะอุปสรรคในครั้งนี้ของยานเทียนเหวิน-1 คือการที่ยานหลักจะต้องลดระดับความเร็วจาก 20,000 กิโลเมตร ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อที่จะหาจุดปลอดภัยในการลงจอด และลงจอดพื้นผิวที่กำหนดไว้