คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (WHO’s Strategic Advisory Group of Experts on Immunization) หรือเอสเอจีอี (SAGE) แถลงในวันพุธว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกา มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล จึงควรถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ซึ่งรวมทั้งในหลายประเทศ ที่พบการระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดที่พบในแอฟริกาใต้ ที่อาจทำให้วัคซีนดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพ
เอสเอจีอีอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้ายเพื่ออนุมัติใช้ฉุกเฉิน และอาจได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยในการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่แนะนำว่า วัคซีนต้านโควิดของแอสตราเซเนกา ควรจะถูกนำมาใช้ในวงกว้างด้วยการฉีด 2 โดสในระยะห่างกัน 8-12 สัปดาห์ และควรจะใช้กับกลุ่มคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปด้วย พร้อมย้ำ ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่มีมากกว่าความเสี่ยง แม้ว่า ในหลายประเทศกำลังรับมือกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์ ซึ่งโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่นี้ ดูเหมือนจะทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงไป
อาเลจันโดร คราวิโอโต ประธานเอสเอจีอี แถลงข่าวว่า แม้ในหลายประเทศ เช่นแอฟริกาใต้ ซึ่งเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนแอสตราเซเนกาในการต่อต้านโควิดกลายพันธุ์ แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนตัวนี้
WHO แถลงด้วยว่า วัคซีนตัวนี้สามารถใช้กับประชาชนกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้ด้วย แม้จะมีหลายประเทศแนะนำให้ระงับการใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุก็ตาม พร้อมกันนั้น WHO ยังแนะนำด้วยว่า การเว้นระยะห่างในการฉีดวัคซีน 2 โดส เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ วัคซีนของแอสตราเซเนกาที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ถูกมองว่าเป็น “วัคซีนเพื่อโลก” เพราะราคาถูก สามารถผลิตได้จำนวนมากและเก็บรักษาไว้ได้ในตู้เย็นมาตรฐานปกติ แต่วัคซีนตัวนี้ก็จุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิดกลายพันธุ์ รวมทั้งควรใช้วัคซีนตัวนี้กับผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากขาดข้อมูล
เอสเอจีอี กำลังพิจารณาและตรวจสอบหลักฐานจากการทดลองวัคซีนตัวนี้อยู่ ซึ่งคำแนะนำในเบื้องต้นนั้น บอกว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิดถึง 63 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองในแอฟริกาใต้พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการต้านทานเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศ และเมื่อวันอาทิตย์ แอฟริกาใต้ระงับโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนชั่วคราว
ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความยินดีที่ WHO สนับสนุนวัคซีนของแอสตราเซเนกา-อ็อกซ์ฟอร์ด และเว้นระยะฉีดระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองนานขึ้น