"เด็กไทยในสหรัฐ" ชู 3 มุมมองชำแหละ "ประชาธิปไตย" เปราะบาง เพราะปฏิวัติรัฐประหาร
ผบ.ตร.บินด่วนสอบ"หลงจู๊"พัวพันบ่อนพนัน จ.ระยอง
"จุฬาฯ"ลุยตรวจพบผู้ติดเชื้อ"โควิด-19"เพิ่ม 2 ราย
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายกฤตัชญ์ กรรณิกา นักเรียนไทยสหรัฐอเมริกา เกรด 11 (เทียบเท่า ม.5) โรงเรียน Walter Johnson High School รัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา เขียนบทความส่วนตัวโดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ โดยระบุว่า ในขณะที่กำลังเรียนวิชารัฐศาสตร์และอ่านหนังสือชื่อ Government by the People ที่ใช้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา และจากการอ่านบทความทางวิชาการต่างๆ เพิ่มเติม จึงนำมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ซึ่งพอจะสรุปใจความสาระสำคัญออกมาได้ดังนี้ แค่เพียงยังไม่ถึงศตวรรษ ประเทศไทยมีการยึดอำนาจที่สำเร็จมากถึง 13 ครั้ง ไม่สำเร็จ 9 ครั้ง และครั้งล่าสุดเป็นการยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้มีเหตุผลเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบสุขในประเทศ แต่เป็นวัฏจักรของการยึดอำนาจที่ไม่จบสิ้น ซึ่งส่งผลให้เป็นอุปสรรคด้านการเจริญเติบโตของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเสถียรภาพและสมบูรณ์พูนสุขในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหยุดวัฏจักรของการยึดอำนาจโดยหันมาเสริมสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ขอให้บรรดาแกนผู้นำระดับประเทศและประชาชนคนไทย พิจารณามุมมองของประชาธิปไตยที่เปราะบางดังต่อไปนี้
ประการแรก ประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นดินแดนแห่งการจดจำของคุณค่าประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชาชนจำนวนมากที่ยกย่องความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี พ.ศ.2475 แต่ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยยังมีข้อกังขาต่อผลกระทบในทางลบที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงนั้น หากจะเปรียบเทียบประชาธิปไตยของประเทศไทย อาจเปรียบเทียบได้กับ "เรือ" ที่กำลังมุ่งหน้าสู่โลกกว้างในมหาสมุทร และคำถาม คือ ใครควรถูกเลือกเป็นกัปตันของเรือลำนี้ ระหว่างคนทั่วไปหรือใครก็ได้ที่มีอำนาจ กับคนที่รู้เรื่องการขับเรือและรู้เรื่องสภาพแวดล้อมของมหาสมุทร
ประการที่สอง การออกเสียงในการเลือกตั้งหรือการออกเสียงใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิทธิ์ที่มีมาอยู่แล้วในตัวคนออกเสียง แต่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับทักษะที่ได้รับการศึกษาและมีประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมล้น จึงจะช่วยให้การออกเสียงการเลือกตั้งและอื่นๆ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในประชาธิปไตยที่สมบูรณ์พูนผล ดังนั้นการปล่อยให้ผู้ออกเสียงในการลงมติ หรือในการเลือกตั้งที่ผสมปนเปกันไปของผู้คนที่รู้มากที่สุด รู้มาก รู้ปานกลาง รู้น้อย และไม่รู้เรื่องนั้นๆ เลย อาจเกิดผลกระทบในทางลบต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยได้
ประการที่สาม ต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์พูนผลนั้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนำ และไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยของพวกเผด็จการ แต่การที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์พูนผลกับประชาธิปไตยแบบเปราะบาง จะส่งผลให้เกิดการใช้ "ความกลัวของคณะราษฎร" มาแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจของขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เช่น ขบวนการประชาธิปไตยบางกลุ่มออกมาปั่นกระแสให้เกิดความกลัวต่อสถาบันหลักของชาติ เกิดความกลัวต่อความมืดมนของประเทศถ้ามีผู้นำเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ คสช. เหล่านี้เป็นเทคนิคของขบวนการที่เอาจุดอ่อนแห่งความกลัวของคณะราษฎร มาเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่สภาพบ้านเมืองที่ไม่มั่นคง ก่อให้เกิดการยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ยกตัวอย่างให้เห็น แกนนำทางการเมืองสองท่าน โดยท่านแรกเป็นนักการเมืองที่พูดจาน่าฟัง มีหลักการเหตุผล และนักการเมืองท่านที่สองเป็นคุณหมอ ทั้งสองท่านนี้มีความโดดเด่นต่างกัน ท่านแรกพูดเรื่องต่างๆ ที่ตรงกับความอยากรู้อยากเห็นของคน พูดจาดึงดูดใจคน หลายครั้งปลุกปั่นให้เกิดความกลัวของผู้คนและคณะราษฎร ทั้งๆ ผู้คนที่ฟังนักการเมืองท่านแรกนี้จะไม่เห็นชัดว่า ประเทศจะดีขึ้นจริง หรือน่าจะดีขึ้น แต่นักการเมืองท่านแรกเก่งพูดปลุกปั่นอารมณ์ผู้คน ตรงกันข้ามกับนักการเมืองคนที่สองที่รักชาติบ้านเมืองมีความชัดเจนของผู้คน เห็นว่าทำเพื่อชาติบ้านเมืองดีต่อส่วนรวมอย่างแน่นอน แต่นักการเมืองท่านที่สองนี้เปรียบเสมือนคุณหมอ ที่บอกเราว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ต้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ต้องใช้ยาแรง ต้องผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกเพื่อรักษาชีวิตไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่านักการเมืองคนที่สองมีความชัดเจนว่าทำอะไรบ้างเพื่อให้ดีต่อชาติบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักการเมืองท่านแรกกลับจะมีการตอบรับขับเคลื่อนจากผู้คนได้มากกว่า และระดมคนเข้าเป็นพรรคพวกได้ไม่น้อย และอาจจะเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก เพราะนักการเมืองคนที่พูดจาดูดีน่าฟังใช้อาวุธแห่งภาษาที่ตรงกับความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้เห็นได้ยาก นักการเมืองคนนี้กำลังทำสิ่งที่ตรงกับจริตของคนจำนวนไม่น้อย และเปลี่ยนให้คนเหล่านั้นที่เกิดความสงสัยว่าจะจริง หรือกลายมาเป็นน่าจะจริง และก็คิดว่าจริง สุดท้ายก็มาอยู่เป็นพวกในขั้วของนักการเมืองยอดนักพูดที่มักจะหยอดถ้อยคำลงไปในสังคมให้เกิดภาพว่า เป็นคนนำเอาความเจ็บปวดและความกลัวมาบอกประชาชนเพื่อมาช่วยประชาชน จึงโน้มน้าวให้ประชาชนมาอยู่เป็นพวกในขั้วของตน สุดท้ายถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ผลที่ตามมา คือ ประชาชนก็จะออกเสียงลงคะแนนเลือกนักการเมืองยอดนักพูดที่พูดดูดี ตรงจริต ตรงความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน แต่ จริงหรือไม่จริง ดีหรือไม่ดีไม่รู้ นี่แหละประชาธิปไตยที่เปราะบางของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านลองพิจารณาไตร่ตรองดู