โควิดตลาดบางแคพบผู้ป่วยกระจาย "กทม.-สุพรรณบุรี -นครปฐม -เพชรบุรี -สมุทรสาคร"

2021-03-14 20:10:01

โควิดตลาดบางแคพบผู้ป่วยกระจาย  "กทม.-สุพรรณบุรี -นครปฐม -เพชรบุรี -สมุทรสาคร"

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้โควิด ตลาดบางแค เป็นการตรวจหาเชิงรุก เจอเชื้อในคนไทย เมียนมา ในพื้นที่ กทม.  สุพรรณบุรี  นครปฐม  เพชรบุรี  สมุทรสาคร เกือบทั้งหมดไม่แสดงอาการ

สุดซึ้ง"ช้างป่า"ป่วยหนักหายตัว 12 ปีโผล่ทัก"หมอลอต"

การันตี "ท็อป ณฐกร" ไม่ได้มีโลก 2 ใบ ปัดบีบคอสาวแจ้งความ

สุดปัง “พีเค” ตอกย้ำไม่ตกอับ ถอยรถหรูป้ายแดง ตั้งชื่อสุดเพราะ “น้อง Money”

แฉ "อาบี" อดีต ผจก. "จั๊กจั่น" สร้างโลกทิพย์ใส่ร้ายกีดกันแฟนยันเพื่อ

เมื่อวันที่ 14  มี.ค.  ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 170 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและในโรงพยาบาล 20 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 136 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันฯ 14 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 - 14 มี.ค.2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 21,977 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.86 อยู่ระหว่างการรักษา 687 ราย เสียชีวิตสะสม 26 คน การติดเชื้อในประเทศพบ 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร 43 ราย กรุงเทพมหานคร 93 ราย ปทุมธานี 12 ราย นครปฐม 3 ราย เพชรบุรี 3 ราย นราธิวาส 2 ราย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เช้าวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ติดตามการสอบสวนโรคกรณีพบผู้ติดเชื้อที่ตลาดบางแค ซึ่งพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงคือ เป็นตลาดใหญ่ มีตลาดย่อยติดกัน 6 ตลาด คนอยู่ในตลาดประมาณ 1,000 คนตลอดเวลา บางตลาดมีหลังคาต่ำ ไม่มีพัดลมระบายอากาศ ทำให้การระบายอากาศไม่ดี ทั้งผู้ค้าขายและลูกจ้างชาวต่างด้าว ส่วนใหญ่ใส่หน้ากากไว้ใต้คาง ใต้จมูก เคี้ยวหมาก ตะโกนพูดคุยกัน การพบผู้ติดเชื้อคัสเตอร์ใหม่ครั้งนี้ เป็นการค้นหาเชิงรุกตามแผนที่ กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมากทม. กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ร่วมกันตรวจในโรงงาน ชุมชนแออัด และตลาดในหลายเขตของกทม. ในวันที่ 11 มี.ค. 2564 ตรวจตลาดที่บางแคพบผู้ติดเชื้อ 85 ราย เป็นผู้ขายคนไทย 46 ราย ลูกจ้างชาวเมียนมา 39 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 20-59 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อที่มีภูมิลำเนานอก กทม. ได้แก่ สุพรรณบุรี 5 ราย นครปฐม 3 ราย เพชรบุรี 6 ราย สมุทรสาคร 1 ราย เกือบทั้งหมดไม่แสดงอาการ ส่งรักษาที่ รพ.บางขุนเทียน และ รพ.ในภูมิลำเนา รวมทั้งติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ อยู่ระหว่างรอผลการตรวจเชื้อ ขณะนี้ ได้ปิดตลาดทำความสะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เพิ่มพัดลมระบายอากาศ เมื่อกลับมาเปิดตลาดแล้ว ย้ำว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน เข้มมาตรการป้องกันควบคุมโรค มีการคัดกรองวัดไข้ ล้างมือก่อนเข้าตลาด สวมหน้ากากอย่างถูกต้องตลอดเวลา โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า คนงานที่ต้องอยู่ในตลาดเป็นเวลานาน ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

“ขอให้ประชาชนที่ไปตลาดบางแคในช่วงปลายเดือน ก.พ. – 13 มี.ค. 2564 หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่หากไม่มีอาการและรู้สึกกังวล สามารถไปตรวจได้ที่บริเวณสวนสาธารณะ ข้างเดอะมอลล์ บางแค โดยมีรถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน พร้อมรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานไปให้บริการ ในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป หรือที่ รพ.ราชวิถี สปคม. สถาบันบำราศนราดูร หากพบว่ามีความเสี่ยงจะได้รับการตรวจหาเชื้อฟรี”นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ให้กลุ่มเป้าหมายระยะแรกใน 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 13 มี.ค. 2564 ฉีดวัคซีนรวม 44,963 ราย ส่วนใหญ่ฉีดได้เกือบครบแล้ว เหลือเพียง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี สมุทรสาคร และกทม. จะฉีดครบภายในสัปดาห์หน้าตามแผนที่วางไว้ จากการทบทวนข้อมูลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน  สำหรับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดนั้น คนไทยมีความเสี่ยงต่ำกว่าชาวยุโรป อันตรายคือเมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นก้อนเลือดกระจายไปอุดตันหลอดเลือดในปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนล้มเหลวและอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาพรวมประชาชน 1 ล้านคนอาจมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เท้าได้ประมาณ 10 คน เช่นหากฉีดวัคซีนให้กับคน 3 ล้านคนโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันคือ 30 คนถือว่าอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้นกรณีที่พบลิ่มเลือดอุดตัน 22 คนในผู้รับการฉีดวัคซีน 3 ล้านคน จึงไม่ได้สูงผิดปกติ แต่หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นจาก 30 คนเป็น 60 คน คือเพิ่มเป็น 2 เท่า ถือว่าผิดปกติ จะต้องทำการสืบค้นหาสาเหตุ รวมทั้งหลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสอบทานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การอนามัยโลก และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าวัคซีนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดมากผิดปกติจากสถานการณ์ที่เคยเป็น แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป